Recent Posts

Posts RSS

การบังคับชำระหนี้

1. กำหนดชำระหนี้ ถ้าเป็นกรณีที่คู่กรณีไม่ได้ตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว กฎหมาย ถือว่า หนี้นั้นถึงกำหนดชำระโดยพลัน (ม. 203)
2. การผิดนัดของลูกหนี้
2.1 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด เพราะเขาเตือนแล้ว (ม. 204 วรรคหนึ่ง)
2.2 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามวันแห่งปฏิทินแล้ว และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว โดยมิต้องเตือนก่อนเลย (ม. 204)
2.3 ถ้าเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด (ม. 206)

ผลของการที่ลูกหนี้ผิดนัด
1. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการนั้นได้ (ม.215)
2. ถ้าโดยเหตุที่ผิดนัดนั้น ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับการชำระหนี้นั้น และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ได้ (ม. 216)
3. ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างผิดนัดด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้นถึงอย่างไรก็จะเกิดมีขึ้นอยู่ดีถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันกำหนดเวลา (ม.217)
4. ในระหว่างผิดนัด ถ้าไม่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีของหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (ม. 224)

ข้อแก้ตัวของลูกหนี้ ถ้าการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้ก็ยังหาได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด (ม.205)

การผิดนัดของเจ้าหนี้
1. ถ้าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้น โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด (ม.207)
2. ในกรณีของสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมือเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยนั้น ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่พึงต้องทำแล้ว เจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด (ม.210)
- เหตุแห่งความผิดนัดในข้อนี้ เนื่องมาจากหนี้อันเกิดจากสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีลักษณะที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ (ม.369)

ผลของการที่เจ้าหนี้ผิดนัด
1. ปลดเปลื้องความรับผิดในอันที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุชำระหนี้ล่าช้า
2. ปลดเปลื้องความรับผิดในกรณีที่การชำระหนี้นั้นกลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้
3. ปลดเปลื้องความรับผิดในความเสียหายอย่างใดๆ ที่เกิดแก่ตัวทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้น
4. ปลดเปลื้องความรับผิดในดิกเบี้ยสำหรับกรณีที่เป็นหนี้เงิน

ข้อแก้ตัวของเจ้าหนี้
1. ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น (ไม่ว่าเจ้าหนี้พร้อมที่จะรับชำระหนี้นั้นหรือยัง) หากลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้จริงๆ เจ้าหนี้ก็หาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.211)
2. ในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ หรือลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนด การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.212)

0 ความคิดเห็น

ความสามารถของบุคคล

1. ผู้เยาว์ บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ม. 19)
ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย (ม.20) สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17ปีบริบูรณ์ หรือ เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรส (ม. 1448) จำไว้ว่า “บรรลุแล้วบรรลุเลย”
ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” ก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นๆ เป็นโมฆียะ คืออาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง (ม.21)
ผู้เยาว์อาจทำนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้เอง โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือ
1. ทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ (ม.25)
2. นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว (ม. 22) เช่น รับการให้โดยไม่มีข้อผูกพัน
3. นิติกรรมที่ต้องทำเองเฉพาะตัว (ม. 23) เช่น การรับรองบุตร กรณีตาม มาตรา 1548
4. นิติกรรมที่สมควรแก่ฐานานุรูป และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามควร (ม.24)
5. เมื่อผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ประกอบการค้า (ม.27)
2. คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ (ม. 28) และจัดให้อยู่ในความอนุบาล นิติกรรมที่คนไร้ความสามรถกระทำลงย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น แม้จะได้รับความยินยอมจาก “ผู้อนุบาล” ก็ไม่ได้
(ม. 29)
ส่วนคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากไปทำนิติกรรม ย่อมต้องถือว่ามีผลสมบูรณ์ เว้นแต่ว่า ได้กระทำในขณะจริตวิกล + คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้ว นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆียะ (ม.30)
3. คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลที่ปรากฏว่า ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ เพราะมีกายพิการ จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ แต่ไม่ถึงขนาดวิกลจริต ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเมา เมื่อคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยให้อยู่ใน “ความพิทักษ์” ก็ได้ (ม. 32)

0 ความคิดเห็น

บุคคลธรรมดา

สภาพบุคคล ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอด การคลอดนั้นหมายถึง การที่ทารกออกมาจากครรภ์มารดาหมดทั้งตัวแล้ว แม้จะยังไม่ตัดสายสะดือ และต้องรอดอยู่ด้วย แม้เพียงชั่วระยะเวลานิดเดียวก็มีสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สินย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดก เช่น อาจรับมรดกของบิดาซึ่งตายก่อนเด็กคลอดได้ เป็นต้น (มาตรา 15)
ภูมิลำเนาของบุคคล มีหลักตามกฎหมายดังนี้
1. ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งสำคัญ (ม.37)
2. ถ้าบุคคลมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกัน หรือมีแหล่งที่ทำมาหากินเป็นปกติหลายแห่ง ก็ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น (ม. 38)
3. ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา (ม.39)
4. ถ้าไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นปกติ หรือไม่มีที่ทำการงานเป็นหลักแหล่ง ถ้าพบตัวในถิ่นไหนก็ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 40)
5. บุคคลอาจแสดงเจตนากำหนดภูมิลำเนา ณ ถิ่นใดเพื่อกระทำการใด ก็ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการนั้น (ม. 42)
6. ภูมิลำเนาของบุคคลบางประเภท เช่น ผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ กฎหมายให้ใช้ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมหรือของผู้อนุบาล (ม.44,45)
7. ข้าราชการ ภูมิลำเนาได้แก่ถิ่นที่ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่อยู่ประจำ ถ้าเป็นเพียงแต่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการชั่วคราวไม่ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 46)
8. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ภูมิลำเนาได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว (ม. 47)
*** การเปลี่ยนภูมิลำเนากระทำได้โดยการแสดงเจตนาว่าจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาและย้ายถิ่นที่อยู่ (ม. 41)

0 ความคิดเห็น

อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

ความหมายของอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
           อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอัน เดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย
อสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยทรัพย์สิน ๔ ประเภท คือ
ก.  ที่ดิน
ข.  ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร
ค.  ทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ง.  ทรัพย์สิทธิ์อันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอัน
เดียวกับที่ดิน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับที่ดิน
(๑) ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นจึงจะมีการครอบครองปรปักษ์ได้ ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ก็จะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
(๒) ที่ดินที่มีแต่เพียงสิทธิครองครองโอนกันได้ด้วยการส่งมอบเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนก็อาจจะมีได้หากเป็นที่ดินที่มีทะเบียนที่ดิน เช่น น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก
(๓) ที่ดินพิพาทซึ่งนายดำครอบครองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) ที่นายแดงมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ ว่า นายแดงซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ข้อสนันิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ จึงรวมถึงที่ดินที่มี น.ส. ๓ และ น.ส. ๓ ก ด้วย
ข้อสังเกต เรื่องนี้ถือมาตรา ๑๓๗๓ มาก่อนมาตรา ๑๓๖๗ กล่าวคือ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองใน น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเป็นคุณมากกว่าคนที่ครอบครองยึดถืออยู่ตามมาตรา ๑๓๖๗
(๔) ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองทำประโยชน์ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธครอบครอง แม้นายดำจะได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการยึดถือครอบครองแต่การได้มาของนายดำเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน นายดำจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายแดงซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสีย ค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นายแดงจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท
ข้อสังเกตเกี่ยวกับทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร
(๑) ทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยธรรมชาติ กับทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ
(๒) ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๓) ทรัพย์ที่มีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรแล้ว จะติดอยู่กับที่ดินนานเท่าไรไม่สำคัญ ถ้าโดยสภาพมีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรก็เป็นอสังหาริมทรัพย์แม้จะติด อยู่เป็นระยะเวลาไม่นานก็ตาม
(๔) เครื่องจักรโรงสีไม่ใช่ส่วนควบ เป็นเพียงของใช้ประจำอยู่กับโรงสีจึงเป็นอุปกรณ์ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์เท่า นั้น ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๕) แผงลอยที่มิได้ติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์
ข้อสังเกตของทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
             ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินหากแยกออกจากตัวพื้นดิน ก็ย่อมขาดจากลักษณะของการเป็นทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ตัวอย่าง   ขุดดินในที่ดินไปขายถือว่าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ เพราะดินได้ขาดออกจากตัวที่ดินแล้วจึงเป็นสังหาริมทรัพย์
ข้อสังเกตทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(๑)  สิทธิรับจำนองที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๒) หุ้นในห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งมีทรัพย์สินเป็นที่ดินไม่ใช่สิทธิในอสังหาริมทรัพย์
(๓) สิทธิเช่าซื้อเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๔) สิทธิเช่าอาคารเป็นสิทธิเกียวกับตัวอาคารไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นสังหาริมทรัพย์
**ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้
             ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว
             ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย
        การแบ่งประเภททรัพย์ออกเป็นทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของรวม เพราะถ้าเป็นทรัพย์แบ่งได้ก็มักไม่มีปัญหา สามารถแบ่งได้ตามส่วน แต่หากเป็นทรัพย์แบ่งไม่ได้อาจต้องมีวิธีแบ่งอย่างอื่น เช่น นำทรัพย์ไปขายเพื่อนำเงินมาแบ่งกัน เป็นต้น
ทรัพย์แบ่งได้ มีองค์ประกอบดังนี้
(๑) ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถแยกออกจากกันได้
(๒) เมื่อแยกออกจากกันได้แล้วไม่เสียสภาพรูปทรงไป
ทรัพย์แบ่งไม่ได้ มีความหมาย ๒ นัย คือ
                 (๒.๑)  ทรัพย์แบ่งไม่ได้โดยสภาพ 
                 (๒.๒) ทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้
ข้อสังเกต
(๑) หุ้นเป็นทรัพย์แบ่งแยกไม่ได้ตามมาตรา ๑๑๑๘ วรรคหนึ่ง
(๒) ส่วนควบ ภาระจำยอม และสิทธิจำนอง แบ่งไม่ได้
**ทรัพย์นอกพาณิชย์
                ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์นอกพาณิชย์มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้
๒. ทรัพย์ที่โอนแก่กันไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่กฎหมายห้ามโอนจะต้องมีอยู่ ๒ ประการ คือ
                 (๑)  ต้องเป็นการห้ามโอนโดยกฎหมายบัญญัติไว้
                 (๒) ลักษณะของการห้ามโอนจะต้องเป็นการห้ามโอนโดยถาวร
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จะสละหรือโอนไม่ได้
(๒) ที่วัด ที่ธรณีสมฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๓) ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามโอนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการห้ามโอนโดยนิติกรรมก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๔) การห้ามโอนโดยมีกำหนดระยะเวลา เช่น การห้ามโอนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือประมวลกฎหมาย ที่ดิน ไม่ใช่เป้นการห้ามโอนโดยถาวรจึงไม่เป้นทรัพย์นอกพาณิชย์ กรณีนี้มีปัญหาว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนว่าพอพ้นกำหนดเวลาแล้ว ค่อยโอนกัน ข้อสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้มีข้อพิจารณาว่า
(๔.๑) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ห้ามโอนก็เป็นโมฆะ
(๔.๒) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยง ก็ไม่เป็นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๑  นาย ก. มีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย ข. โดยมีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน เมื่อนาย ก. ยังไม่ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลาห้ามโอน ๑๐ ปี จึงถือว่าไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๒  นายแดงมีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายดำภายในระยะเวลาห้ามโอน โดยได้มีการชำระเงินกันแล้วและนายแดงได้มอบที่ดินให้นายดำเข้าครอบครองแล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่านายแดงจะจดทะเบียนโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยชัดแจ้ง สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงตกเป้นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๓  นายแดงเจ้าของที่ดินทำสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับนายดำในระยะเวลาห้ามโอนตาม กฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่กันได้ นายดำจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่หากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว นายแดงได้สละเจตนาครอบครองหรือนายแดงได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายดำแล้ว เช่นนี้นายดำก็มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้านายแดงยังไม่ได้สละเจตนาครอบครองหรือมิได้มีการมอบการครอบครองให้แก่ นายดำ แม้นายดำจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมาก็ถือว่านายดำครอบครองแทนนาย แดง เมื่อถือว่านายดำเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนนายแดง หากนายดำโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก ก็จะเข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เพราะถือว่าบุคคลภายนอกครอบครองที่ดินแทนนายแดงเช่นเดียวกัน แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดำเข้าครอบครองที่ดินนับแต่ได้ซื้อจากนายแดงมา ตลอดแม้ในระยะเวลาห้ามโอน นายดำยังไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่เมื่อนายดำครอบครองที่ดินตลอดมาจนล่วงระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนายดำตลอดมาโดยไม่มีผู้อื่นเข้ามายุ่ง เกี่ยวแย่งการครอบครอง การครอบครองที่ดินของนายดำดังกล่าวจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตน แล้ว นายดำย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗

0 ความคิดเห็น

กฎหมายลักษณะทรัพย์และที่ดิน

     ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
            ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ข้อสังเกต ทรัพย์ นอกจากหมายความรวมถึงวัตถุมีรูปร่างแล้ว จะต้องเป็นวัตถุที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ด้วยตามความหมายของทรัพย์สิน
**ความหมายของคำว่า อาจมีราคาและอาจถือเอาได้
           วัตถุ มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างจะเป็นทรัพย์และทรัพย์สินได้ก็ต่อเมื่ออาจมีราคา และอาจถือเอาได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ข้อสังเกต ร่างกายของมนุษย์ถ้ารวมอยู่ในส่วนของร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่ถือว่าป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ถ้าขาดออกหรือหลุดออกมาแล้วก็อาจเป็นทรัพย์ได้ เช่น เส้นผมหรือเล็บมือ เป็นต้น ในส่วนของศพจะเป็นทรัพย์หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อยุติและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ยังไม่ชัดเจน
กรณีสิทธิต่างๆ นั้น แม้จะไม่มีรูปร่าง แต่หากมีราคาและอาจถือเอาได้ ศาลฎีกาก็เคยมีคำพิพากษาว่าเป็นทรัพย์สิน เช่น
(๑) หุ้นในบริษัท
ข้อสังเกต การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนและ ผู้รับโอนและมีพยานอย่างน้อย ๒ คน รับรองลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน หากไม่ทำตามเป็นโมฆะ แต่ถึงแม้การโอนจะเป็นโมฆะก็ตาม หากผู้รับโอนได้ยึดถือหุ้นหรือครอบครองหุ้นมาเป็นเวลา ๕ ปี ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ ได้
(๒) สิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย
(๓) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ

(๔) สิทธิในการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร
ข้อสังเกต การโอนสิทธิประทานบัตรนั้นหากมีเงื่อนไขเป็นพิเศษว่าเป็นการให้เฉพาะตัวแก่ คนใดคนหนึ่ง ก็จะโอนกันไม่ได้หรือจะนำมาชำระหนี้ไม่ได้ด้วย
               กรณีเครื่องหมายการค้า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามมาตรา ๑๓๘๒
ประเภอของทรัพย์สิน
๑. อสังหาริมทรัพย์
๒. สังหาริมทรัพย์
๓. ทรัพย์แบ่งได้
๔. ทรัพย์แบ่งไม่ได้
๕. ทรัพย์นอกพาณิชย์
**อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์(๑) อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินจะต้องมีเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอ แต่สังหาริมทรัพย์อาจจะไม่มีเจ้าของก็ได้
(๒) ทรัพย์สิทธิบางอย่าง ได้แก่ สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ภาระจำยอม สิทธิเหนือพื้นดิน และภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ส่วนในสังหาริมทรัพย์ไม่มีสิทธิดังกล่าว
(๓) ระยะเวลาในการครอบครองปรปักษ์ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลา ๑๐ ปี แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลาครอบครองปรกักษ์ ๕ ปีเท่านั้น
(๔) การทำนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนหรือการก่อตั้งสิทธิต่างๆ ในอสังหาริมทรัพย์ โดยปกติจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไม่งั้นเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์หรือไม่ บริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ปกติไม่ได้กำหนดแบบไว้ ยกเว้นกรณีสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำตามแบบ
(๕) แดนกรรมสิทธิ์มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น สังหาริมทรัพย์ไม่มีแดนกรรมสิทธิ์
(๖) สิทธิของคนต่างด้าวในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีข้อจำกัด แต่ในสังหาริมทรัพย์โดยปกติไม่มีข้อจำกัด

0 ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม