Recent Posts

Posts RSS

อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ (มาตรา22) พรบ ล้มละลาย

มาตรา22 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลุกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

4.1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จไป--(โปรดสังเกตว่า คดีล้มละลายมีลักษณะเป็นการชำระบัญชี มุ่งถึงถึงการที่จะไปจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยเร็ว—ส่วนคดีฟื้นฟูกิจการนั้นมุ่งหมายรักษาองค์กรทางธุรกิจ รักษากิจการให้ดำเนินต่อไปได้)
4.1.1) การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จไป
4.1.1.1) กรณีเรื่องความรับผิดในภาษีอากรสำหรับที่ดินของลูกหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์—เช่น หลังจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ซึ่งต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพรบ.โรงเรือนและที่ดิน เช่นนี้ เมื่อเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลุกหนี้ตาม 22(1)แล้ว เป็นผลให้จ.พ.ท.ต้องนำเอาเงินหรือเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ชำระภาษีแทนลูกหนี้ หากจ.พ.ท.ไม่ชำระย่อมถูกฟ้องให้รับผิดได้(สังเกต กรณีเช่นนี้เป็นการเกิดหนี้โดยผลของกฎหมายภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์แล้ว จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้)
4.1.1.2) กรณีสัญญาจ้างแรงงานลูกจ้างของลูกหนี้ที่ถูกบอกเลิกการจ้างในภายหลัง เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว—กรณีเช่นนี้ จ.พ.ท.มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการหรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปตาม22(1) และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าลูกจ้างของลูกหนี้หมดสิทธิที่จะทำงานให้ลุกหนี้ต่อไป ดังนั้น หากเกิดมีเงินที่กฎหมายบังคับให้จ่ายเกิดขึ้นเช่น เงินค่าชดเชย จ.พ.ท.มีหน้าที่เอาเงินของลูกหนี้ชำระ
-ข้อสำคัญ การที่มาตรา22 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้ามาจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์สินของตัวเองต่อไป แต่มิได้หมายความว่าลูกหนี้จะไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลอื่นไปด้วย(ฎีกา418/46 วินิจฉัยว่า ลูกหนี้ยังยังมีสิทธิจัดการทรัพย์มรดกของผู้อื่นเช่น ต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกได้)

4.1.2) การจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้
-เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของลุกหนี้ซึ่งตกเป็นบุคคลล้มละลายโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อมาตรา22 ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งตกเป็นบุคคลล้มละลายและมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากลูกหนี้ของลูกหนี้ฯ ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีตาม57(1)-ฎีกา879/49,ฎีกา7660/49

4.2) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิได้รับจากผู้อื่น
-เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ฯแล้ว จ.พ.ท.แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินที่จะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลุกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตาม22(2) โจทก์ในคดีล้มละลายไม่มีอำนาจขอให้ศาลส่งเงินที่เหลือจากภายหลังที่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในคดีแพ่งไปแล้ว ไปรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย
4.2.1) ที่ดินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายซึ่งเป็นคนต่างด้าว—เมื่อคนต่างด้าวล้มละลาย จ.พ.ท.ของผู้ล้มละลายก็ย่อมมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้
4.2.2) สิทธิในการบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์—สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาของโจทก์ที่จะบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระค่าเช่าและขับไล่ออกจากห้องเช่าย่อมตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
4.2.3) ความที่ว่า ทรัพย์สินซึ่งลุกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
-ลูกหนี้ผู้ล้มละลายกู้เงินจากโจทก์แล้วนำไปให้สมาชิกของลูกหนี้กู้ แล้วสมาชิกเอาเงินที่กู้มานั้นไปให้ผู้อื่นกู้ยืมต่อ เช่นนี้ ผู้อื่นนั้นมิใช่ลูกหนี้ของผู้ล้มละลาย จ.พ.พท.ไม่มีอำนาจเรียกร้องให้ผู้อื่นชำระเงินดังกล่าว-ฎีกา1911/23
-ลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้ก. ก.เป็นเจ้าหนี้ค. เช่นนี้ จ.พ.ท.จะอายัดสิทธิเรียกร้องที่ก.เป็นเจ้าหนี้ค.ไม่ได้ เพราะไม่ใช่สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้-ฎีกา2572/19

4.3) ประนีประนอมยอมความหรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
---หลักคือ การดำเนินการตาม22(3)เหล่านี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องดำเนินการแทน ต้องเป็นการดำเนินการในคดีอื่นที่มิใช่คดีล้มละลาย ถ้ามีการโต้แย้งกระบวนพิจาณราใดๆในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์อยู่หรือลูกหนี้ถูกพิพากษาล้มละลายอยู่ ลูกหนี้ย่อมมีอำนาจ เช่น จ.พ.ท.นำทรัพย์ลูกหนี้ไปขายทอดตลาด ลูกหนี้ย่อมีสิทธิคัดค้านว่าขายทอดตลาดต่ำเกินไปหรือคบคิดกันฉ้อฉลเพราะเป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของจ.พ.ท.ในคดีล้มฯนั้นเอง
-กรณีภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและว่าคดีที่ตนเป็นโจทก์ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้ ถือว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4.3.1) ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี เพราะพรบ.ล้มฯมาตรา22บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
-ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งด้วยตนเอง เป็นการไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบฯ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามป.วิแพ่ง142(5)
-ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์นำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ และมีผู้อื่นร้องขัดทรัพย์ก็ถือว่าเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงอยู่ในอำนาจของจ.พ.ท. การที่จ.พ.ท.จะใช้สิทธิอุทธรณ์คดีแพ่งดังกล่าวหรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของจ.พ.ท.ที่จะใช้ดุลพินิจเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้(สังเกตแนวฎีกาเป็นไปในทำนองว่า เป็นดุลพินิจของจ.พ.ท.(มิใช่บทบังคับ)ที่จะดำเนินการฟ้องร้องหรือประนีฯหรือดำเนินการอย่างใดหรือไม่ตาม22(3))
-การร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เป็นการต่อสู้คดีใดๆหรือกระทำการใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่ง เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงเป็นอำนาจของจ.พ.ท.เท่านั้น
4.3.2) อำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้องและต่อสู้คดีที่จ.พ.ท.มีอำนาจกระทำการแทนลูกหนี้แต่ผู้เดียวตาม22(3) นั้นจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงการดำเนินคดีอาญา(ไม่ว่าลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์อยู่ในฐานะโจทก์หรือจำเลย)
4.3.3) คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลิกสัญญาซื้อขายทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีล้มละลาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จ.พ.ท.คืนเงินมัดจำซื้อทรัพย์ให้แก่ผู้ร้อง จ.พ.ท.ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อไปได้ เพราะจ.พ.ท.มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินและฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลุกหนี้ รวมทั้งกระทำการต่างๆในฐานะลูกหนี้อีกฐานะหนึ่ง(ฎีกา848/52นี้ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้อ้างว่าจ.พ.ท.ผิดสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจ.พ.ท.มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้จ.พ.ท.คืนเงินมัดจำแก่ผู้ร้องได้-เป็นการต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม22(3))
4.3.4) การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลุกหนี้ผู้ล้มละลายโอนที่ดินคืนและรับเงินค่าหุ้นจากโจทก์ตามข้อตกลงกับขอให้ขับไล่นั้น เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ต้องฟ้องจ.พ.ท.ของลูกหนี้เป็นจำเลยตาม22(3) โดยต้องยื่นต่อศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ในเขตตามป.วิแพ่ง4ทวิ(สังเกต ตามฎีกา1517/25นี้ เป็นหนี้กระทำการตามสัญญาต่างตอบแทน มิใช่หนี้เงินที่จะขอรับชำระหนี้ได้ตาม27,91)
4.3.5) มาตรา22,24และ25 ไม่ห้ามลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีอาญาต่อไป หรือเป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีอาญาขอให้ลงโทษจำเลยทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียวโดยมิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโจทก์(และหมายเหตุ ศาลสามารถลงโทษปรับ(โทษทางอาญา)จำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ได้-ฎีกา3920/49)
4.3.6) มาตรา22,24และ25 ไม่ห้ามบุคคลล้มละลายที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย(ฎีกา6323/47 วินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องที่ผู้ร้อง(ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์)ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก มิใช่เรื่องการจัดการทรัพย์สิน การฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มล้มละลาย ไม่เป็นการต้องห้ามตาม22,24และ25)

0 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม