Recent Posts

Posts RSS

ตัวอย่าง คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก (แบบไม่มีพินัยกรรม)

เค้าโครงของคำร้องขอประเภทนี้สรุปได้ดังนี้คือ

1. บรรยายถึงฐานะของผู้ร้อง เกี่ยวข้องกับผู้ตายอย่างไร ( มีหลักฐานชนิดใดบ้าง ระบุไว้เสมอ )

2.ขณะเสียชีวิตผู้ตายมีทายาทที่มีสิทธิรับมรดกกี่คน ( มีบุตรกี่คน พ่อแม่ยังอยู่หรือไม่แสดงบัญชีเครือญาติเสมอ)

3.บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการตาย (ตายที่ไหน) สาเหตุแห่งการตาย , และ ขณะถึงแก่ความตายเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน ( แสดงสำเนาทะเบียนราษฏร์ของเจ้ามรดกท้ายคำร้องขอเสมอ)

(วรรคต่อมา) ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรมมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด และมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดก ดังนี้
3.1........................................................................
3.2........................................................................
3.3........................................................................
รายละเอียดปรากฏตาม..........................เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข.......,......,....ตามลำดับ และยังทรัพย์สินอื่นๆอีกซึ่งผู้ร้องจะเสนอในชั้นพิจารณาต่อไป

4.บรรยายถึงเหตุแห่งการยื่นคำร้องเช่น :

หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ได้ไป ติดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง (อะไรบ้างระบุไป) แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ว่า ต้องร้องขอจัดการมรดกต่อศาลและให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้

( วรรคต่อมา ) ผู้ร้องได้รับความยินยอมจากทายาทอื่นให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ปรากฎตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข..................... ผู้ร้องจึงมีความประสงค์ ขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อจะได้ดำเนินการจัดการมรดกของผู้ตายให้กับทายาท

( วรรคต่อมา ) ด้วยเหตุดังที่ได้ประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ขอศาลได้โปรดทำการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนาย/นาง.............................. ต่อไปด้วย ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ........................................................... ผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้านาย/นางสาว....................................ทนายความผู้ร้องเป็นผู้เรียง/เขียน
ลงชื่อ...........................................................ผู้เรียง /เขียน

0 ความคิดเห็น

การขอเป็นผู้จัดการมรดกอย่างง่ายๆ

เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกซึ่งเรามักเรียกกันว่ากองมรดก เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร เงินที่เขายืมไป ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล บ้านช่อง ย่องตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย คือ เจ้ามรดกไปยืมเงินใครเขาไว้หรือเป็นหนี้เขา ค้างค่าเช่าบ้าน พวกนี้เป็นพวกความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว

แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินก็จะปฎิเสธบ้าง ลูกหนี้เจ้ามรดกปฎิเสธบ้าง หรือแม้จะไปเบิกเงินธนาคารๆ ก็ปฎิเสธบ้างว่า ต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้

จึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง ประเหมาะเคราะห์ร้ายมีคนอื่นคัดค้านเข้ามาอีกก็ยิ่งเสียเวลาไปอีก ความจริงกฎหมายก็มิได้บังคับไว้ว่าหากเจ้ามรดกตายแล้วต้องตั้งผู้จัดการมรดก แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องจึงตั้งจึงเป็นข้อคิดสำหรับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร หากเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ก็ควรจะจ่ายให้ทายาทเขาไปเลย เพียงแต่ให้มีความละเอียดรอบคอบหน่อยว่าเขาเป็นทายาทหรือไม่ เช่นจัดให้มีคนที่เชื่อถือได้รับรองหรือค้ำประกันว่าเขาเป็นทายาทจริง เช่นนี้ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

ส่วนศาลเองก็ควรผ่อนสั้นผ่อนเบาให้ โดยจัดให้มีแบบคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแบบง่ายๆไว้ให้ หากเป็นมรดกจำนวนเล็กน้อย โดยมีประชาสัมพันธ์ศาลช่วยแนะนำ ซึ่งทราบว่าทางปฏิบัติก็มีอยู่ นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนโดยแท้จริง ถือได้ว่าเป็นที่พึ่งของประชาชนจริงๆ อย่างไรก็ดี หากเป็นมรดกรายใหญ่มีมากมาย มีเรื่องซับซ้อนยุ่งยากหรือมีผู้ยื่นคัดค้านเข้ามา เช่นนี้ก็จำเป็นที่จะตั้งผู้มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยโดยตรงคือควรมีทนายความเข้ามาดำเนินการแทนจะปลอดภัยกว่า เพราะทนายเป็นผู้ใช้กฎหมายอยู่โดยตรง



การขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้นมีข้อที่ควรรู้ไว้ดังนี้

1. จะขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อใด

เมื่อเจ้ามรดกตาย เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดก และมีเหตุขัดข้องที่จะต้องจัดการมรดก

2. ใครเป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้แก่ ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิรับมรดก เช่น บุตร บิดามารดา คู่สมรสของเจ้ามรดกผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก กรณีเช่นนี้ที่มีมากคือ กรณีที่สามีภริยาไม่จดทะเบียนสมรสและมีทรัพย์สินร่วมกันนั่นเอง สำหรับเจ้าหนี้ ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้

3. ใครเป็นผู้จัดการมรดกได้

ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดกจะเป็นใครก็ได้ แต่ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล ต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียดังที่กล่าวแล้ว ทายาทอาจขอให้ศาลตั้งนาย ก. นาย ข. หรือนาย ค. ก็ได้ ประการสำคัญผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย คนประเภทนี้เห็นแล้วว่าไม่สามารถรู้ผิดชอบ หย่อนความคิดอ่าน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขืนไปจัดการทรัพย์สินคนอื่น ก็มีแต่จะเสียหายยิ่งขึ้นไปเท่านั้น

4. การยื่นคำร้องขอยื่นที่ไหน

ยื่นที่ศาล โดยทั่วไปเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาที่ไหน เช่น ที่ขอนแก่น เชียงใหม่ ตรัง ตราด ก็ยื่นศาลที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ตายนั่นเอง ถ้ายื่นที่ศาลจังหวัดในกรุงเทพฯ ก็ยื่นที่ศาลแพ่ง แพ่งกรุงเทพใต้ แพ่งธนบุรี หรือศาลจังหวัดมีนบุรี แล้วแต่กรณี

5. คำร้องต้องทำอย่างไร

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการทำคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้มีความรู้ในทางกฎหมายและทางปฏิบัติเท่านั้นจะเข้าใจและทำได้ถูกต้อง เราประชาชนหรือมีอาชีพอื่นย่อมไม่เข้าใจ ก็ต้องปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ สำหรับคำร้องจะมีแบบคำร้องแล้วนำมาบรรยายในคำร้องระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อ ตำบล ที่อยู่ผู้ร้อง เป็นทายาทผู้ตายๆ ผู้ตายเมื่อไหร่ มีหลักฐานการตาย ผู้ตายมีทายาทกี่คนใครบ้าง มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีเหตุขัดข้องอย่างไร และท้ายสุดก็ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก โปรดดูตัวอย่างต่อไปนี้

6. การยื่นคำร้องและนัดไต่สวนทำอย่างไร

เมื่อยื่นคำร้องแล้วเจ้าหน้าที่จะเสนอศาล ศาลจะสั่งนัดว่าไต่สวนหรือมีคำสั่งอย่างอื่นต่อไป ทางปฏิบัติก็ขอให้ประกาศหน้าศาลหรือทางหนังสือพิมพ์โดยให้เวลาพอสมควร โดยทั่วไปศาลจะไต่สวนหลังจากรับคำร้องประมาณ 1 เดือน การไต่สวน ผู้ร้องจะต้องมาศาลและนำพยานอื่น เช่น ทายาทคนอื่นๆ มาด้วย หรือขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกมาด้วย เพื่อไต่สวนว่าเป็นผู้ยินยอมเป็นผู้จัดการมรดก การไต่สวนโดยทั่วไปใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ คดีเช่นนี้ศาลมักจะนัดตอนบ่าย

เมื่อไต่สวนเสร็จก็คือการนำพยานแต่ละฝ่ายไปให้การต่อศาลเรียกว่าเบิกความนั่นเอง เสร็จแล้ว ศาลจะจดรายงานการไต่สวน หากเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนศาลก็นัดฟังคำสั่งวันนั้นเลย คือสั่งให้เป็นหรือไม่เป็นผู้จัดการมรดกนั่นเองแต่หากเป็นเรื่องซับซ้อนมรดกมาก เช่นนี้ศาลอาจนัดฟังคำสั่งวันอื่นก็ได้ เพื่อศาลจะได้ตรวจสำนวนโดยละเอียดต่อไป ทางปฏิบัติส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาศาลสั่งได้เลย แต่การจะรับคำสั่งไปก็อาจเป็นวันรุ่งขึ้น เพราะจะต้องพิมพ์ให้เรียบร้อยถูกต้อง มีคำรับรองว่าเป็นสำคัญคำสั่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าพอศาลสั่งอนุญาตจะรับคำสั่งไปได้เลย

7. การขอรับคำสั่งศาลกรณีศาลสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว

ก็ต้องทำคำร้องขอเข้ามา ศาลจะดำเนินการให้โดยไม่ชักช้า เมื่อได้คำสั่งศาลก็นำไปแสดงต่อธนาคาร หรือเจ้าพนักงานที่ดิน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมรดกของผู้ตายได้

8. ผู้จัดการมรดกจะถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการได้หรือไม่

หากผู้จัดการมรดกปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการจัดการมรดก หรือจัดการมรดกเสียหาย ประมาทเลินเล่อในการจัดการมรดก หรือทุจริตในการจัดการมรดก เช่น เบียดบังเอาเป็นของตนเองบ้าง เช่นนี้นอกจากจะผิดฐานยักยอกทางอาญามีโทษถึงจำคุกแล้ว ก็อาจถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ โดยผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่ก็ต้องขอเสียก่อนการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นลง

9. คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับผู้จัดการมรดก

1.คำฎีกาที่ 331/2525 ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ แม้ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตาย แต่ตามพินัยกรรมผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้รับทรัพย์สินของผู้ตายเลย จึงไม่สามารถตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย

ข้อสังเกต ศาลจะพิจารณาตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกต้องคำนึงถึงประโยชน์ของกองมรดกเป็นสำคัญ

2. ฎีกาที่ 1481/2510 ศาลไม่จำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมอาจตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นที่เหมาะสมก็ได้

3. ฎีกาที่ 1491/2523 ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ หมายถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น

ข้อสังเกต ผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

4.ฎีกาที่ 2095/2523 ภริยาไม่จดทะเบียนสมรสและไม่มีทรัพย์ร่วมกันไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินมรดกของสามี ไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

5. ฎีกาที่ 2021/2524 ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกต้องคำนึงถึงความสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน

6. ฎีกาที่ 1695/2531 (ประชุมใหญ่) กองมรดกที่ไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน แผ่นดินก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ส่วนปัญหาที่ว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้น แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้กองมรดกซึ่งตามปกติย่อมมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก และพนักงานอัยการมิได้คัดค้าน จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้

ข้อสังเกต ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลไว้แล้วว่า ทำไมเจ้าหนี้กองมรดกคดีนี้จึงร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ และเป็นผู้จัดการมรดกได้

0 ความคิดเห็น

การขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 หรือ น.ส.3ก)

ที่ดินที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ มีดังนี้

1. เป็นที่ดินที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว

2. ต้องไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทะเลสาบ ที่ชายตลิ่ง

3. ต้องไม่เป็นที่เขา ที่ภูเขา หรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินที่ทางราชการเห็นว่าควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ

หลักฐานที่จะต้องนำไปแสดงประกอบการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มีดังนี้

1. บัตรประจำตัว

2. แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)

3. ใบรับแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน

4. ใบจองหรือใบเหยียบย่ำ

5. ตราจองเป็นใบอนุญาต

6. หลักฐานการเสียภาษีที่ดินหรือหลักฐานอื่นๆ ในกรณีที่ไม่ได้แจ้งการครอบครองและไม่อยู่ในท้องที่ประกาศเป็นเขตเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)

วิธีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์

1. ผู้ขอต้องยื่นคำขอต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ที่ดินตั้งอยู่แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งแนบหลักฐานตามที่กล่าวมาแล้ว

2. เมื่อรับคำขอแล้ว นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรืออาจจะมอบให้เจ้าหน้าที่ผู้ใดไปแทนก็ได้ จะออกไปทำการรังวัดพิสูจน์สอบสวนว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นตามระเบียบและกฎหมาย ในการรังวัดเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงต้องไประวางชี้แนวเขตและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานด้วย

3. เมื่อได้พิสูจน์การทำประโยชน์แล้วปรากฎว่าได้มีการครอบครองและทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพที่ดินในท้องถิ่น ตลอดจนสภาพกิจการที่ได้ทำประโยชน์แล้ว นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอจะประกาศคำขอรับรองการทำประโยชน์ไว้ 30 วัน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่ทำการกำนันในบริเวณที่ดินที่ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และสำนักงานเทศบาล (ถ้ามี) แห่งละ 1 ฉบับ

4. ถ้ามีผู้คัดค้าน นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอจะทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันได้ก็ดำเนินการไปตามข้อตกลงนั้น หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้มีคำสั่งว่าจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใด และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประการใดให้ดำเนินการไปตามนั้น ถ้าไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 60 วัน ก็ให้ดำเนินการไปตามที่มีคำสั่งไว้แล้ว

5. ถ้าไม่มีผู้คัดค้าน ก็ให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ต่อไป

6. ถ้าปรากฎว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยความผิดหลงหรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ถูกต้องด้วยประการใดก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส.3 ได้

0 ความคิดเห็น

วิธีการจดทะเบียนการได้มาประเภทมรดก

1. ให้ผู้ได้รับมรดกนำหลักฐานสำหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 พร้อมด้วยหลักฐานในการรับมรดก เช่น พินัยกรรม มรณบัตร สูติบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ไปยื่นขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกมาได้

2. ให้ผู้ขอรับมรดก ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวในข้อ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐานและหากเชื่อว่าผู้ขอเป็นทายาทก็จะประกาศการขอรับมรดกนั้น 60 วัน แม้เป็นการโอนมรดกตามพินัยกรรมก็ต้องประกาศด้วยเว้นแต่มีการจดทะเบียนตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลก่อนแล้ว และผู้จัดการมรดกโอนต่อให้ทายาทไม่ต้องประกาศ ประกาศนั้นให้ติดไว้ที่อำเภอสำนักงานที่ดิน ที่ทำการกำนัน บริเวณที่ดินแห่งละ 1 ฉบับ ส่งประกาศให้ทายาททุกคนที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็นทายาททราบเท่าที่จะทำได้

4. ถ้าไม่มีผู้โต้แย้ง ก็ให้จดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ทายาทตามที่ขอ

5. ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนคู่กรณีแล้วเปรียบเทียบประนีประนอมกันหากไม่ตกลงให้เจ้าหน้าที่สั่งการไปตามที่เห็นสมควรแล้วแจ้งคู่กรณีทราบ ผู้ที่ไม่พอใจให้ไปฟ้องศาลภายใน 60 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง ถ้ามีการฟ้องศาลให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้ก่อน เมื่อศาลพิพากษาจึงดำเนินการตามที่ศาลสั่ง

ถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดให้ดำเนินการไปตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่ง

ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนมรดกถ้าเป็นการรับมรดกระหว่างบิดา มารดา บุตร สามี เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 50 สตางค์ของจำนวนทุนทรัพย์ ไม่ต้องเสียค่าอากร

การเสียสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ผู้มีสิทธิในที่ดินอาจเสียสิทธิในที่ดิน ได้โดยที่ดินนั้นจะตกเป็นของรัฐในกรณีที่มีการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้พื้นที่ดินรกร้างว่างเปล่าาเกินเวลาดังนี้

1. สำหรับที่ดินมีโฉนดที่ดินเกิน 10 ปี ติดต่อกัน

2. สำหรับที่ดินที่มี น.ส.3 เกิน 5 ปี ติดต่อกัน

โดยถือว่าผู้นั้นเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ได้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6)

0 ความคิดเห็น

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน

1. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เช่นได้มาโดยได้โฉนดแผนที่โฉนด
ตราจอง, หรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว, ได้มาซึ่งที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 ที่ดินประเภทนี้เป็นที่มีกรรมสิทธิแต่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ และไม่ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่า ฎีกาที่ 1570/2500 ที่พิพาทซึ่งเจ้าของได้ครอบครองทำที่ดินให้เป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 และพระราชบัญญัติ ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) 2479 แล้วแม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ ก็ต้องนำกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 มาใช้บังคับคดี โดยถืออายุความสละที่ดิน 9 ปี 10 ปี หาใช่อายุความ 1 ปี ไม่

2. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินตั้งตำบล และได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 และ 59)

3. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยนิติกรรม เช่น โดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้จำนอง, ขายฝาก ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้น เป็นโมฆะ

4. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยผลของกฎหมาย เช่น

ก) ได้กรรมสิทธิในที่ดินจากที่งอกริมตลิ่ง ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น โดยหลักของที่งอกริมตลิ่ง จะต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและติดต่อเป็นผืนเดียวกันแต่เจ้าของที่ดินมีจะมีกรรมสิทธิในที่งอกได้ต้องเป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินแปลงใดเป็นที่มือเปล่าเกิดที่งอกออกมา เจ้าของที่แปลงนั้นก็มีแต่สิทธิครอบครองที่งอกเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นงอกออกมาจากที่ดินมีโฉนด เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวมีกรรมสิทธิในที่งอก ผู้อื่นจะแย่งการครอบครองที่ดินส่วนนี้ต้องครองครองปรปักษ์เกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมือเปล่า (สค.1 , นส.3)
เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองหากผู้อื่นแย่งการครอบครองและเจ้าของไม่ฟ้องร้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เจ้าของสิ้นสิทธิในที่งอกนั้น

ข) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ” ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ (โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้วที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ดเสร็จบทที่ 42) ที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1, น.ส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เช่น ก.ครอบครองที่ดินมือเปล่าอย่างเจ้าของมา 10 ปี ก.ก็คงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น

การได้กรรมสิทธิโดยครอบครองปรปักษ์จะต้องให้ศาลสั่งว่าได้มาโดยครอบครองปรปักษ์แล้วนำคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินประเภทได้มาโดยการครอบครองหากเจ้าของได้โดยการครอบครองบางส่วน ก็ไปขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบครองเฉพาะส่วนหรือได้รับแบ่งมาโดยการครอบครอง

ค) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน โดยทางมรดก การจะมีกรรมสิทธิในที่ดินมรดกที่ดินมรดกนั้นต้องเป็นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ เช่น โฉนดที่ดินถ้าที่ดินมรดกเป็นที่มือเปล่าเช่นที่ นส.3, สค.1 ก็มีเพียงสิทธิครอบครอง

ผู้ได้ทรัพย์มาโดยทางมรดกนี้ จะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเสียก่อนจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ เช่น นาย ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดให้นาย ข. เมื่อนาย ก. ตาย นาย ข. ก็ได้รับมรดกทันทีโดยผลของกฎหมายโดยไม่ต้องจดทะเบียน เนื่องจากพินัยกรรมมีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายหรือหากไม่มีพินัยกรมเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตายมรดกก็ตกไปยังทายาทโดยธรรมทันที แต่ต่อมาหากนาย ข. ต้องการขายที่ดินมรดกให้นาย ค. นาย ข.จะทำไม่ได้เพราะชื่อในโฉนดยังเป็นชื่อนาย ก. เจ้าของเดิมอยู่ นาย ข. จะต้องจดทะเบียน การได้มาประเภทมรดก ลงชื่อนาย ข. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิเสียก่อนจึงจะเอาที่ดินไปจดทะเบียนขายให้นาย ค. ต่อไปได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรค 2 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้” การได้มาทางมรดกก็เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเช่นกัน

0 ความคิดเห็น

ที่ดินมือเปล่าแตกต่างกับทีดินมีโฉนด

1. ที่ดินมีโฉนด เจ้าของมีกรรมสิทธิ กล่าวคือ มีสิทธิใช้สอย, จำหน่าย, ได้ดอกผลและติดตามเอาคืน ซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ที่ดินมือเปล่า เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองซึ่งเกิดขึ้นจากการยึดถือที่ดินนั้นไว้โดยเจตนายึดถือเพื่อตน

2. ที่ดินมีโฉนด ถูกครอบครองปรปักษ์ได้กล่าวคือ หากมีบุคคลอื่นเข้ามาครอบครองที่ดินมีโฉนดโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกัน10 ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิแต่ต้องไปขอให้ศาลสั่งว่าได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์และนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดิน

ที่ดินมือเปล่า ถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เช่น ที่ดิน ส.ค.1 หรือ น.ส.3 มีคนมาครอบครอง 10 ปี หรือ 20 ปี ผู้ครอบครองก็คงมีแต่สิทธิครอบครอง ดังนั้นผู้มาแย่งการครอบครองที่ดินมือเปล่าจากเจ้าของเดิมเกิน 10 ปี จะต่อสู้ว่าตนได้กรรมสิทธิโดยครอบครองปรปักษ์แล้วไม่ได้แต่ต้องต่อสู้ว่าตนได้สิทธิในที่ดินนั้นแล้วเนื่องจากเจ้าของเดิมถูกแย่งการครอบครองแล้วไม่ฟ้องร้องภายใน 1 ปี
ผู้ครอบครองเดิมย่อมสูญสิ้นในที่ดินของตน(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375)

3. ที่ดินมีโฉนด พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียน คือ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินสาขา ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่

- ที่ดินมือเปล่า พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนคือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอหรือผู้ทำการแทนซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่

4. ที่ดินมีโฉนด อายุความการทอดทิ้งให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ ที่ดินมีโฉนดทอดทิ้งเกิน 10 ปีติดต่อกัน (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6)

ที่ดินมือเปล่า หากเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทอดทิ้งเกิน 5 ปี ติดต่อกันที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐ สำหรับที่ดินมือเปล่าประเภทอื่น เช่น ส.ค.1 ใบจอง หากผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินนั้นต่อไป การครอบครองย่อม
สุดสิ้นที่ดินตกเป็นของรัฐทันที

เจ้าของที่ดินมือเปล่าจะสูญสิ้นสิทธิในที่ดินของตนได้โดยประการหนึ่งประการใดดังต่อไปนี้

1) โดยเจ้าของที่ดินมือเปล่าโอนที่ดินของตนให้ผู้อื่นหากเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โอนโดยการจดทะเบียนต่อนายอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ หากเป็นที่ดิน ส.ค.1 โอนโดยการส่งมอบการครอบครองซึ่งใช้ยันกันได้ระหว่างเอกชนเท่านั้น จะใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378-1380)

2) โดยการสละเจตนาครอบครอง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377) เช่นเจ้าของที่ดินมือเปล่า สค.1 ทำหนังสือโอนขายกันเอง เป็นการแสดงเจตนาว่าผู้ขายสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินนั้นต่อไป

3) โดยไม่ยึดถือทรัพย์สินนั้นต่อไป (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377) การที่เจ้าของที่ดินมือเปล่าเลิกยึดถือที่ดินเป็นการแสดงเจตนาละทิ้ง เลิกครอบครอง การซื้อขายที่ดินมือเปล่า โดยมิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือกันนั้นเมื่อผู้ซื้อได้ชำระราคาและ
ผู้ขายสละสิทธิให้ผู้ซื้อเข้าปกครองอย่างเจ้าของโดยผู้ขายเลิกยึดถือที่ดินนั้นต่อไป ที่ดินย่อมเป็นสิทธิของผู้ซื้อ

4) โดยถูกแย่งการครอบครองแล้วเจ้าของที่ดินมือเปล่าไม่ฟ้องเรียกร้องคืนภายใน 1 ปี ย่อมสูญสิ้นสิทธิในที่ดินของตน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375) การฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองจะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายถือว่าที่ดินมือเปล่าเจ้าของไม่มีกรรมสิทธิ มีแต่เพียงสิทธิครอบครองระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง มิใช่นับตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกแย่งการครอบครอง

การฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เป็นระยะเวลาสิ้นสุด มิใช่อายุความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลก็หยิบยกขึ้นพิจารณายกฟ้องโจทก์ก็ได้

5) โดยถูกเวนคืนให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 5)

6) โดยเจ้าของละทิ้ง (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6) เช่น ที่ดิน สค.1 ใบจอง หากเจ้าของสละเจตนาครอบครอง การครอบครองย่อมสิ้นสุด ที่ดินตกเป็นของรัฐ

สำหรับที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์หากทอดทิ้ง 5 ปีติดต่อกัน ที่ดินตกเป็นของรัฐประเภทที่รกร้างว่างเปล่า

0 ความคิดเห็น

ใบไต่สวน (น.ส.5)

เป็นหนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน (กฎกระทรวงฉบับที่ 5) ใบไต่สวนจะออกให้ต่อเมื่อบุคคลมารังวัดโฉนดที่ดินจะเป็นการรังวัดเฉพาะแปลง(ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59) หรือรังวัดเป็นท้องที่ (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58) ก่อนออกโฉนดที่ดินพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินเพื่อทำแผนที่ระวาง และสอบสวนสิทธิว่าเป็นที่ดินของใคร มีบิดา มารดาชื่ออะไร มีอายุเท่าไร เนื้อที่ทั้งหมดประมาณเท่าไร มีเขตข้างเคียงแต่ละทิศจดอะไร และมีหลักฐานสำหรับที่ดินอย่างไรบ้าง
ข้อความที่สอบสวนรังวัดมาได้ จะต้องจดไว้ในใบไต่สวนและให้เจ้าของที่ดินลงชื่อรับรอง และเจ้าหน้าที่ผู้ทำการสอบสวนลงชื่อไว้ด้วย

ใบไต่สวน เป็นพยานเอกสารที่แสดงว่า ผู้มีชื่อในใบไต่สวนนำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงนั้นๆ แล้ว ใบ
ไต่สวนไม่ใช่เอกสารสิทธิ แต่มีประโยชน์สำหรับ ผู้มีชื่อในใบไต่สวนที่ถูกฟ้องคดีหาว่าสละสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้น อาจอ้างใบ
ไต่สวนเป็นพยานเอกสารต่อสู้ได้ว่าตนเองยังมีเจตนายึดถือครอบครองอยู่ มิฉะนั้นคงไม่นำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดออกโฉนดที่ดิน และเป็นเอกสารที่ยืนยันว่ามีที่ดินมีเนื้อที่ประมาณเท่าไร แต่ละทิศจดที่ดินข้างเคียงแปลงใด และเป็นหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าของได้ครอบครองตามเขตที่แสดงไว้ในใบไต่สวนแล้ว

0 ความคิดเห็น

ที่ดิน

ที่ดินเป็นทรัพย์อันมีค่าที่ทุกคนหวงแหน เป็นพื้นฐานของครอบครัวและประเทศชาติเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ สำหรับใช้เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประโยชน์อื่นๆ ดังนั้นระเบียบการเกี่ยวกับที่ดินจึงมีความละเอียดอ่อนมาก เพื่อให้ประชาชนผู้สุจริตได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับเรื่องที่ดินที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันบางส่วนไว้บ้าง จึงได้รวบรวมข้อควรทราบและทางปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินซึ่งจะได้กล่าวต่อไปตามลำดับ

ที่ดิน หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไปและให้หมายความรวมถึงภูเขา ห้วย หนองคลองบึง ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลด้วย (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1)

คำว่าที่ดินมิได้หมายถึงเนื้อดินอันเป็นกรวดทราย โคลน เลน แต่หมายถึงอาณาเขตอันจะพึงวัดได้เป็นส่วนกว้างส่วนยาวอันประจำอยู่แน่นอนบนพื้นผิวโลก เป็นส่วนหนึ่งของผิวพื้นโลกอันมนุษย์จะพึงอาศัย กรวด ทราย หิน ดิน โคลน แร่ธาตุที่อาจจะขุดขึ้นมามิใช่ตัวที่ดิน หากเป็นทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ที่ดินนั้นจึงเป็นสิ่งไม่อาจทำลายทำให้สูญหาย หรือเคลื่อนย้ายอย่างใดๆ ได้ เว้นแต่จะเปลี่ยนสภาพไปเช่นเปลี่ยนสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะ

ประเภทที่ดิน

1. ที่ดินของเอกชน รวมที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ แต่อาจมีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3,น.ส.3 ก.) ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้นและรวมถึงที่ดินมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจองและตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว

2. ที่ดินของรัฐ ได้แก่ที่ดินที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิรวมทั้งที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งมิได้มีผู้ใดครอบครองเป็นเจ้าของ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินที่มีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เช่น ทางหลวง ทางน้ำ ทะเลสาบ ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะเช่น ศาลากลางจังหวัด
โรงทหาร

สาธารณสมบัติของแผ่นดินมีคุณสมบัติดังนี้

1. จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่มีกฎหมายที่ออกเฉพาะให้โอนกันได้

2. ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน เช่น ครอบครองทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะกี่ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ

3. ห้ามยึดทรัพย์ของแผ่นดิน

หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดินมีอยู่ 4 อย่าง

1. โฉนดแผนที่ เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิในที่ดิน ฉบับแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยออกเมื่อ ร.ศ.120 (พ.ศ. 2445) และ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) ออกโดยมีการรังวัดทำแผนที่ระวาง ป้องกันการเกิดการทับที่ซ้อนที่ ผู้ถือหนังสือนี้มีกรรมสิทธิในที่ดินของตนโดยสมบูรณ์ตลอดไปจนกระทั่งปัจจุบัน

2. โฉนดตราจรอง เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดินออกตาม พระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ.124 ประกาศใช้ในมณฑลพิษณุโลก ที่เป็นจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย และบางส่วนของนครสวรรค์ ในจังหวัดอื่นไม่มีการออกโฉนดตราจองการรังวัดทำแผนที่ไม่มีระวางยึดโยง ทำเป็นแผนที่รูปลอย เป็นแปลงๆ ไป

3. ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ออกให้ในกรณีที่บุคคลได้รับอนุญาตให้จับจองเป็นใบเหยียบย่ำมีอายุ 2 ปี หรือผู้ได้รับตราจองที่เป็นใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี และได้ทำประโยชน์ในที่ดินภายในกำหนดแล้วมีสิทธิจะได้รับตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว

4. โฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มี 6 แบบ น.ส.4 , น.ส. 4 ก. ,น.ส. 4 ข., น.ส. 4 ค.,น.ส. 4 ง. (ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 15,17 ปัจจุบันไม่ออกแล้ว) น.ส. 4 จ. (ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 34) ปัจจุบันโฉนดที่ดินออกตามแบบ น.ส.4 จ.

การออกโฉนดที่ดิน

ก. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตเพื่อจะออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58,58 ทวิ)

ข. การออกโฉนดที่ดิน เฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59)

ที่ดินมือเปล่า

คือ ที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 อย่างต่อไปนี้ คือไม่มีโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจองและตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ที่ดินมือเปล่านั้นอาจจะไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดิน แต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย หรือมีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินบางอย่าง เช่น ใบเหยียบย่ำ ตราจองที่เป็นใบอนุญาต ส.ค.1 ใบจองหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือใบไต่สวน

ส.ค.1

ส.ค.1 คือ หนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินที่ผู้ครอบครองได้ทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ว่าตนครอบครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนเท่าใด
นายอำเภอจะออกแบบ ส.ค.1 ให้แจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส.ค.1 มีลักษณะสำคัญแสดงให้ทราบว่ามีเนื้อที่เท่าใดใครเป็นเจ้าของ ตำแหน่งอยู่ที่ใด ที่ดินได้มาอย่างไร มีหลักฐานแห่งการได้มา และสภาพที่ดินเป็นอย่างไร

ส.ค.1 ที่ผู้แจ้งได้มาไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิที่เคยมีอยู่หรือไม่เคยมีอยู่ของผู้แจ้งต้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด คือ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด ไม่ใช่หนังสือรับรองว่าผู้แจ้งเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครอง ความเป็นเจ้าของผู้แจ้ง ผู้แจ้งต้องพิสูจน์เอาเอง

ใบจอง

ใบจองเป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินเป็นการชั่วคราว ซึ่งใบจองนี้จะออกให้แก่ราษฎรที่ทางราชการได้จัดที่ดินให้ทำกินตามประมวลกฎหมายที่ดิน (ผู้ที่ต้องการจับจองควรคอยฟังข่าวของทางราชการ ซึ่งจะมีประกาศเปิดโอกาสให้จับจองเป็นคราวๆ ในแต่ละท้องที่)

ผู้มีใบจองจะต้องจัดการทำประโยชน์ในที่ดินที่ราชการจัดให้ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (การทำประโยชน์ให้แล้วเสร็จ หมายถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินที่จัดให้) และที่ดินที่มีใบจองนี้จะโอนให้แก่คนอื่นไม่ได้ต้องทำประโยชน์ด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อทำประโยชน์เสร็จถึง 75% แล้ว ก็มีสิทธิมาขอออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 ได้เหมือนกับผู้มี ส.ค.1 มี 2 กรณี คือ

1. เมื่อทางราชการเดินสำรวจทั้งตำบลเพื่อออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ให้

2. มาขอออกเองเหมือนกับผู้มี ส.ค.1

หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)

คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (นายอำเภอ) ว่าผู้ครอบครองที่ดินได้ทำประโยชน์แล้ว มี 2 แบบ คือ แบบ น.ส.3 และ น.ส. 3ก

แบบ น.ส.3ก ให้ใช้เมื่อมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยวิธีกำหนดตำแหน่งทีดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศ

ที่ดินที่มีมี น.ส.3 นี้ถือว่ามีสิทธิครอบครองคือมีสิทธิยึดถือทรัพย์นั้นไว้เพื่อตน เป็นสิทธิที่มีความสำคัญรองลงมาจากกรรมสิทธิ (แต่ทางพฤตินัยก็ถือว่าเป็นเจ้าของเช่นกัน) นอกจากนี้เวลาจะโอนให้คนอื่น ไม่ว่าจะขายหรือยกให้ หรือจำนองก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ ไม่ใช่สำนักงานที่ดิน

ที่ดิน น.ส.3 นี้ เป็นที่ดินที่เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง เจ้าของที่ดินมีสิทธินำ น.ส.3 มาขอออกโฉนดที่ดินเพื่อให้ได้
กรรมสิทธิได้ 2 กรณี คือ

1. เมื่อทางราชการจะออกโฉนดที่ดินให้โอนการเดินสำรวจทั้งตำบล

2. มาขอออกเองเป็นเฉพาะราย เหมือนผู้มี ส.ค.1 หรือ น.ส.3

0 ความคิดเห็น

คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิด

คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่เดิมถือว่ามีน้ำหนักน้อย เว้นแต่เป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผล รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ (ฎ. 1325/42) แต่ตามมาตรา 227/1 ที่แก้ไขปี 2550 กำหนดให้ศาลต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่เป็นคำซัดทอดด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่มีเหตุผลหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีหลักฐานอื่นมาประกอบสนันสนุน
ส่วนพยานหลักฐานประกอบนั้น หมายถึงพยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระจากพยานซัดทอด ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่นที่ประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
หลักการรับฟังพยานซัดทอดดังกล่าวนี้ นำไปใช้กับการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน และพยานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้นด้วย
- ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติที่จำเลยไม่โต้แย้ง ศาลรับฟังประกอบดุลพินิจของศาลในการจะลงโทษสถานใด เพียงใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อจำเลย (ฎ. 100/47, 4914/46) แต่ศาลจะนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ มาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ (ฎ. 2944/44, 2775/4


การรับฟังคำให้การในชั้นจับกุม หรือชั้นรับมอบตัว (มาตรา 84 วรรคท้าย)
1. ถ้อยคำที่เป็นคำรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิด
- มาตรา 84 วรรคท้ายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานโดยเด็ดขาด ดังนี้ การวินิจฉัยพยานหลักฐานของศาล ศาลไม่อาจหยิบยกคำรับสารภาพในชั้นจับกุมว่าจำเลยได้กระทำผิดมาประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อลงโทษจำเลยได้อีกต่อไป
- กรณีข้างต้น มิได้ห้ามรับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วย ศาลจึงยังรับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน มาประกอบพยานหลักบานอื่นของโจทก์ ลงโทษจำเลย ได้ ทั้งนี้ต้องมีการดำเนินการตามมาตรา 134/1-3 และมีการแจ้งสิทธิตามมาตรา 134/4 วรรคหนึ่งก่อน
2.ถ้อยคำอื่น
- ถ้อยคำที่มิใช่คำรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิด ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อ มีการแจ้งสิทธิตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 83 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับทราบว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิจะไม่ให้การ หรือให้การก็ได้ และถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้ ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ...
- คำว่าถ้อยคำอื่น เช่น รับว่าอาวุธของกลางเป็นของตน หลังเกิดเหตุตนนำไปซุกซ่อนไว้ที่ใด หรือตนได้มาที่เกิดเหตุเพราะเหตุใด เป็นต้น

0 ความคิดเห็น

การรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน โปรดดูตัวบท มาตรา 131, 131/1,132, 133,173/1-2

การยื่นบัญชีระบุพยาน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1. กรณีมีการตรวจพยานหลักฐาน ดูมาตรา 173/1
1.1 คู่ความ(ทั้งโจทก์และจำเลย) ต้องยื่นก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน
1.2 การยื่นเพิ่มเติม ต้องยื่นต่อศาลก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น
1.3 ถ้าพ้นกำหนดดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
2. กรณีไม่มีวันตรวจพยานหลักฐาน ดูมาตรา 229/1
2.1 โจทก์ต้องยื่นต่อศาล ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันไต่สวนมูลฟ้อง หรือวันสืบพยาน
2.2 กรณีจำเลย ให้ยื่นก่อนวันสืบพยานจำเลย
2.3 กรณีการยื่นเพิ่มเติม
- ต้องได้ยื่นไว้ก่อนแล้วตาม 2.1 หรือ 2.2 ต่อมาขอยื่นเพิ่มเติม
- ต้องแสดงเหตุและข้ออ้างต่อศาล พร้อมกับบัญชีและสำเนาบัญชี ไม่ว่าเวลาใดๆก่อน
เสร็จสิ้นการสืบพยานของฝ่ายนั้น
2.4 กรณียังไม่ได้ยื่นไว้เลย
- ต้องแสดงเหตุอันควรที่ไม่สามารถยื่นในกำหนดได้
- ต้องร้องขออ้างพยานหลักฐานต่อศาล พร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนา ก่อน
เสร็จสิ้นการพิจารณา

ผลของการไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน (มาตรา 229/1 วรรคสี่)
- ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานที่มิได้ระบุอ้างพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่ศาลเห็นว่าจำเป็นต้องคุ้มครองพยาน หรือจะต้องนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม หรือเพื่อให้โอกาสจำเลยในการสู้คดีอย่างเต็มที่ ให้ศาลมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
หลักเกณฑ์การยื่นบัญชีระบุพยานตามแนวคำพิพากษาฎีกา
- การยื่นบัญชีระบุพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ถือว่าเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานตลอดทั้งเรื่อง รวมทั้งชั้นพิจารณาด้วย (ฎ. 280/05 ป., 2409/23)
- ในคดีที่ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ โจทก์ร่วมก็มีสิทธิระบุพยานเพิ่มเติมได้ (ฎ. 568/13)
- การฟ้องคดีใหม่ตามคำสั่งศาลที่ให้แยกฟ้องจำเลยที่ให้การปฎิเสธตาม มาตรา 176 วรรคสอง ต้องระบุบัญชีพยานใหม่ด้วย (ฎ. 2389/22)
- สรรพเอกสารในคดีนี้โจทก์ระบุบัญชีพยานไว้แล้ว การที่โจทก์สืบพยานบุคคลประกอบสรรพเอกสารคดีอื่นโดยผิดหลงสลับสำนวนกัน เท่ากับนำพยานที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานมาสืบไม่ชอบ (ฎ. 4260/4 เรื่องนี้ โจทก์ระบุ อ. และสรรพเอกสารในสำนวนคดีนี้ เป็นพยานไว้แล้ว แต่ผู้แทนโจทก์ได้สืบ อ. และนำสรรพเอกสารในคดีอื่นมาสืบในคดีนี้โดยผิดหลง เมื่อศาลชั้นต้นได้สั่งให้เพิกถอนการสืบพยานโจทก์ปาก อ. เพราะเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลลบล้างการสืบพยานโจทก์ปาก อ.ที่ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้ต่อมาโจทก์จึงมีสิทธินำ อ. มาเบิกความและนำสืบสรรพเอกสารในคดีนี้โดยชอบได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เพราะการสืบ อ. ถูกเพิกถอนไปแล้ว

หน้าที่นำสืบในคดีอาญา (มาตรา 174)
- โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนเสมอ
- เนื่องจากในคดีอาญามีหลักกำหมายอยู่ว่า บุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าเขาเป็น ผู้กระทำผิด ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิด ถ้าจำเลยให้การปฎิเสธ ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์ คงมีข้อยกเว้นอยู่ 2 ประการ คือ
1. จำเลยให้การยอมรับตามฟ้องโจทก์ แต่อ้างเหตุยกเว้นโทษ เช่นกระทำผิดด้วยความจำเป็นหรือวิกลจริต หรือเหตุลดหย่อนโทษ เช่นกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ และ
2. มีกฎหมายสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เช่น พ.ร.บ.การพนันฯ
ทั้งสองกรณีนี้ภาระพิสูจน์ย่อมตกอยู่แก่จำเลย ส่วนหน้าที่นำสืบก่อนในคดีอาญานั้น โจทก์ต้องเป็นผู้มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนเสมอตามมาตรา 174
- บทบัญญัติมาตรา 174 ที่กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนนั้น ถือเป็นเรื่องเคร่งครัดจะให้จำเลยนำสืบก่อนไม่ได้ (ฎ. 1217/03)
- จำเลยต่อสู้ว่าทำเพื่อป้องกัน เท่ากับจำเลยปฎิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบ (ฎ. 943/0
- ความผิดฐานรับของโจรโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยรับทรัพย์ของกลางมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด จึงจะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 357 (ฎ. 2923/44) ส่วนการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ ตามมาตรา 36 ป.อาญา เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบ(ฎ. 368/35)
- อายุความฟ้องคดีอาญา เป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบว่าคดียังไม่ขาดอายุความ(ฎ. 1035/40) โดย ในคดีอาญา จำเลยจะให้การอย่างไรก็ได้ แม้จะไม่ให้การก็ได้ เมื่อจำเลยให้การอย่างไร หรือจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ จำเลยหาต้องให้การปฎิเสธเป็นประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความไว้ด้วย เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลก็พิพากษายกฟ้องได้
-เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การรับว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาอื่นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ โจทก์มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย(ฎ.7262/46)
- ในเรื่องนับโทษต่อถ้าศาลเคยสอบจำเลย และจำเลยเคยรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อแล้ว ต่อมาโจทก์ขอแก้หมายเขคดีเนื่องจากพิมพ์ผิดพลาด ศาลมีคำสั่งอนุญาต สำเนาให้จำเลย จำเลยไม่โต้แย้ง ถือว่าจำเลยรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยตามคดีที่ขอแก้ไขไม่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกันกับที่จำเลยเคยรับข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว (ฎ. 8044/47)
- คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ผู้เสียหายแถลงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่คดีเมื่อโจทก์ไม่ค้านและไม่ขอสืบพยาน ศาลรับฟังคำของผู้เสียหายได้ (ฎ. 418/09) เรื่องนี้ฟ้อง ป.อ. 297 จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง แต่ผู้เสียหายยื่นคำร้องแถลงว่ารักษา 10 วัน ศาลลง 295 ได้ แต่ถ้าโจทก์แถลงขอสืบพยาน ศาลต้องอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบหักล้างถ้อยคำของผู้เสียหาย จะงดสืบพยานโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพไม่ต้องสืบพยาน ไม่ได้ (ฎ. 2484/20)

พยานหลักฐานในคดีอาญา (มาตรา 226)
- พยานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ อาจเป็นพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล แต่พยานดังกล่าวต้องมิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่น
- พยานที่เกิดจาการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง เช่น ขู่เข็ญจูงใจว่า จะให้พยานออกโดยรับบำนาญและจะไม่จับกุมดเนินคดี รับฟังไม่ได้ ตามมาตรา 226 (ฎ. 1758/23)
- เจ้าพนักงานตำรวจจับ ส. ข้อหามียาบ้าในครอบครอง แล้วเสนอว่าถ้า ส. ไปล่อซื้อยาบ้าจากผู้อื่นจะไม่ดำเนินคดี ส. จึงไปล่อซื้อจากจำเลย คำเบิกความของ ส. ในฐานะพยานโจทก์ จึงเกิดจาการจูงใจหรือคำมั่นสัญญาโดยมิชอบ รับฟังเป็นพยานไม่ได้(ฎ. 1839/44)
- แต่ถ้าปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การโดยการตัดสินใจเอง มิใช่เกิดจากการล่อลวง ขู่เข็ญ หรือให้สัญญาของเจ้าพนักงาน ศาลรับฟังคำให้การดังกล่าวได้ (ฎ. 4765/43)
- การแสวงหาพยานหลักฐานโดยวิธีการล่อซื้อ ถ้าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่แล้ว ก็ถือว่าการล่อซื้อเป็นวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษซึ่งจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว (ฎ.4417/48,8187/43)
- แต่ถ้าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว แต่จำเลยกระทำผิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อ ถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ (ฎ.4301/43,4077/49)
-ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ แต่ไม่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ ก็อ้างเป็นพยานได้ และคดีที่ไม่ได้ทำแผนที่เกิดเหตุ ไม่ทำให้พยานอื่นเสียไป (ฎ. 270/42) แผนที่เกิดเหตุเป็นเพียงพยานหลักฐานการจำลองถึงสถานที่เกิดเหตุตามที่พนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้น แม้จะมีระเบียบให้พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นเพื่อประกอบคดี แต่ถ้าพนักงานสอบสวนมิได้จัดทำ ก็หาทำให้พยานหลักฐานอื่นที่โจทก์นำสืบเสียไปแต่อย่างใดไม่ หากพยานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีแผนที่เกิดเหตุ
- พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ต้องได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย มิฉะนั้นรับฟังไม่ได้ เช่น คำรับของจำเลยชั้นสอบสวนซึ่งเจ้าพนักงานมิได้จดไว้ และทั้งเกิดขึ้นโดยมิได้ตักเตือนให้จำเลยทราบก่อนว่าถ้อยคำของจำเลยอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้นั้น ใช้ยันจำเลยไม่ได้ (ฎ.769/82) หรือพยานหลักฐานมีเพียงคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนเท่านั้น ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจซ้อม โดยมีบันทึกข้อความซึ่งพยาบาลเทคนิครับรองอาการบาดเจ็บของจำเลย ทั้งจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในเอกสารใด ให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้บันทึกการตรวจค้นจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ตามมาตรา 226

พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบประการอื่น
- ได้แก่ พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้มาซึ่งพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา หรือที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น เช่น ในการถามคำให้การผู้ต้องหาห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำ หรือจัดให้ทำการใดๆซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆในเรื่องที่ต้องหานั้น (มาตรา 135) การที่พนักงานสอบสวนแจ้งแก่จำเลยว่าผู้ตายยังไม่ตาย ซึ่งผิดจากความจริง จำเลยจึงยอมรับว่าเป็นผู้ขับรถคันที่ไปชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับ ไม่เป็นการล่อลวงเพื่อจูงใจให้จำเลยให้การตามมาตรา 135 (ฎ. 924/44) เรื่องนี้เป็นการดำเนินการที่พนักงานสอบสวนได้ทำไปเพื่อทราบข้อเท็จจริงตามอำนาจของกฎหมาย
- พยานที่เบิกความโดยไม่สาบานตนหรือกล่าวคำปฎิญาณ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 (ฎ.824/92)
- คดีปลอมเอกสาร แม้ไม่มีตัวเอกสารมาเป็นพยานในคดี ศาลฟังพยานบุคคลลงโทษจำเลยได้ (ฎ. 416/23)
- คำแถลงของผู้เสียหาย ไม่ใช่คำพยาน ศาลจะสั่งงดสืบพยานโจทก์แล้ววินิจฉัยยกฟ้องไม่ได้(ฎ. 2484/20)
-ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบถามบุคคลภายนอก โดยบุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะพยาน รับฟังไม่ได้ (ฎ. 392/86)
- พยานที่นำมาเบิกความในชั้นศาล ไม่จำต้องให้การมาแล้วในชั้นสอบสวน ก็เป็นพยานที่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลก็รับฟังได้ (ฎ. 2107/14,4012/34) และการสอบปากคำพยานในชั้นสอบสวน ก็ไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าจำเลย (ฎ. 6612-3/42)
- พยานเอกสาร ก็ไม่จำต้องเป็นเอกสารที่มีการสอบสวนมาแล้วและอยู่ในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น ศาลรับได้ (ฎ. 1548/35)
- ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์อ้างแต่คำเบิกความของพยานในคดีแพ่ง โดยไม่นำมาเบิกความด้วย รับฟังว่าคดีมีมูลไม่ได้ (ฎ. 604/92)
- คดีที่ผู้เสียหายและผู้ต้องหาต่างฟ้อง และรวมพิจารณากัน ต้องฟังพยานหลักฐานรวมกัน (ฎ. 133-4/91) จะแยกว่าพยานคนนี้เป็นพยานเฉพาะของโจทก์คนใดคนหนึ่งไม่ได้ แม้โจทก์อีคนหนึ่งจะมิได้อ้างพยานนั้นๆก็ตาม ตลอกจนการพิพากษาก็เป็นคดีเดียวกัน จะแยกยกฟ้องสำนวนหนึ่ง ลงโทษอีกสำนวนหนึ่งไม่ได้
- แต่ถ้าศาลมิได้สั่งรวมพิจารณา ต้องฟังพยานหลักฐานแยกกัน แม้พยานโจทก์จะเป็นชุดเดียวกันก็ตาม(ฎ. 1679/26)
- กรณีพยานที่เบิกความในสำนวนหนึ่งก่อนที่จะสั่งรวมพิจารณากับอีกสำนวนหนึ่ง แต่ภายหลังที่ศาลสั่งรวมสำนวนแล้ว พยานปากดังกล่าวมิได้มาเบิกความอีก ดังนี้ จะนำเอาคำเบิกความของพยานปากนั้นมาฟังเป็นโทษจำเลยในคดีหลังไม่ได้ (ฎ. 840/36) เพราะไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลยในคดีหลัง แต่อาจรับฟังได้เป็นเพียงพยานประกอบพยานอื่นในสำนวนหลังเท่านั้น โปรดดู มาตรา 226/5 (แก้ไขปี 50)
- การพิจารณาของโจทก์ร่วมมิเสียไป แม้ภายหลังศาลจะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม ศาลรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมได้ (ฎ. 186/14,1281/03)
- ในคดีอาญาสามารถนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารได้ ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 94 วิแพ่ง (ฎ. 3224/31)
- การที่จำเลยลงชื่อในแผนที่เกิดเหตุ เพราะพนักงานสอบสวนบอกว่าลงชื่อแล้วกลับบ้านได้ ไม่ได้หมายความว่าจำเลยถูกบังคับหรือหลอกลวง แต่เป็นการลงชื่อโดยสมัครใจเอง
-การพิพากษาคดีอาญา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ให้ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งหรือในคดีอาญาเรื่องอื่น (ฎ.4751/39)
- ตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ ห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานเฉพะคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ห้ามรับฟังในคดีอาญา (ฎ. 90-2/4

0 ความคิดเห็น

การรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวน ( มาตรา 134/4)

การรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวน ( มาตรา 134/4)
ถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้อหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิ์ตามมาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง หรือก่อนการดำเนินการตามมาตรา 134/1-3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้
- กล่าวคือศาลจะรับฟังถ้อยคำในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาได้นั้น จะต้องมีการแจ้งสิทธิตามมาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง และดำเนินการตามมาตรา 134/1-3 ก่อนแล้ว
- กรแจ้งสิทธิตามมาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ก่อนการถามคำให้การของผู้ต้องหา ต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ และถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้ (มาตรา 134/4(1)) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้ใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ ( มาตรา 134/1(2))
- ตามมาตรา 134/4 (1) คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่จะนำไปเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาได้ต้องเป็นการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งพนักงานสองสวนต้องบอกจำเลย(ผู้ต้องหา) ว่าถ้อยคำที่ให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ดังนี้ คำให้การของผู้ต้องหาในฐานะพยาน จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาได้ (ฎ. 3281/33) เรื่องนี้พนักงานสอบสวน สอบสวนจำเลยเป็นพยาน แต่ได้นำคำให้การดังกล่าวมาใช้ยันในการพิจารณาคดีชั้นศาลว่าจำเลยกระทำผิด จึงเป็นการมิชอบ แม้คำให้การดังกล่าวจะเป็นคำรับที่ปรักปรำและเป็นผลร้ายต่อตนเอง ก็รับฟังไม่ได้ เพราะขัดต่อ มาตรา 226 หรือกรณีก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมหรือแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนได้สอบสวน จำเลยนั้นในฐานะพยาน กรณีเช่นนี้จะนำคำให้การดังกล่าวมายันในชั้นพิจารณาไม่ได้ (ฎ. 1106/06, 148/36)
- มาตรา 134/1 ต้องสอบผู้ต้องหาในเรื่องทนายความก่อนถามคำให้การ
- มาตรา 134/2 การดำเนินการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี
- มาตรา 314/3 การให้ทนายความหรือผู้ซึ่งผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำผู้ต้องหา
กรณีไม่ปฎิบัติตาม มาตรา 134/1-3 มีผลทำให้ไม่อาจนำถ้อยคำของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนดังกล่าว มารับฟังพิสูจน์ความผิดในชั้นศาลได้ แต่ไม่มีผลถึงกับทำให้การสอบสวนในคดีนั้นทั้งคดีเสียไป อันจะทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องแต่อย่างใด
- นอกจากนั้นพนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 134 วรรคหนึ่ง
- กรณีตามมาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง การสอบปากคำเด็ก อายุไม่เกิน 18 ปี ในฐานะผู้เสียหายหรือผู้เสียหาย ก็ต้องจัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสงคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการ เข้าร่วมด้วย ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าวเข้าร่วม ศาลไม่อาจรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กเป็นพยานหลักฐานได้ ตามมาตรา 133 ทวิ ประกอบมาตรา 226 (ฎ. 4209/48, 3541/49) นอกจากนี้การสอบปากคำเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในฐานะผู้ต้องหา ก็ต้องจัดให้มีสหวิชาชีพดังกล่าวเข้าร่วมเช่นกัน หากไม่มีจะรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยเด็ก ไม่ได้เช่นกัน
หมายเหตุ มาตรา 133 ทวิ แก้ไขใหม่ ได้กำหนดฐานความผิดไว้ ด้วยได้แก่
1. ความผิด ป.อาญา ได้แก่ เกี่ยวกับเพศ ต่อเสรีภาพ ต่อชีวิตร่างกายที่ไม่ใช่ชุลมุนต่อสู้ กรรโชก ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์
2. ความผิดตาม กำหมายเกี่ยวกับ การป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ., การค้าหญิงและเด็ก , ความผิดตามกำหมายว่าด้วยสถานบริการ
3. ความผิดที่มีโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหาย หรือพยาน ที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ
กรณีดังกล่าวนี้ การสอบปากคำเด็ก ในฐานะผู้เสียหาย พยาน ให้แยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่เหมาะสม และก็ต้องจัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสงคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการ ร่วมอยู่ด้วยมรการถามปากคำเด็กนั้น แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง และมีเหตุอันควร ไม่อาจรอ บุคคลดังกล่าวได้ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกปากคำเด็ก แต่ก็ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งร่วมอยู่ด้วย และบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ ด้วย จึงเป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีการสอบปากคำผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้ปฎิบัติดังนี้
1. นำมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับ โดยการสอบสวนปากคำทำเป็นสัดส่วน มีสหวิชาชีพ
2. ต้องจัดให้มีทนายความตามมาตรา 134/1
3. แจ้งสิทธิ ตามมาตรา 134/4(1) ว่ามีสิทธิให้การหรือไม่ให้การก็ได้ฯ ถ้าให้การคำให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
4. ตามข้อ 1 ให้บันทึกภาพและเสียง ในการสอบปากคำ
พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ( มาตรา 226/1)
- โปรดดูตัวบท แต่ก็สรุปได้ว่า พยานหลักฐานใดที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจาการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มา โดยมิชอบ ห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมอย่างมาก ฯ แต่ก็ต้องพิจารณาถึง คุณค่า ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ด้วย
- ของกลางที่ได้มาจากการค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ รับฟังไม่ได้ เช่นการค้นที่มิได้กระทำต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่ หรือบุคคลในครอบครัว ฯ กรณีการเชิญบุคคลอื่นมาเป็นพยานในการค้น ต้องเชิญมาในขณะตรวจค้นพบของกลาง ถ้าเชิญมาหลังตรวจค้นแล้ว ก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ( ฎ. 4793/49) กรณีการค้นโดยไม่มีหมายค้น หรือไม่ชอบนี้ ต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่มีผลทำให้การสอบสวนเสียไป (ฎ. 5144/4 อย่างไรก็ตามเมื่อ แม้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ ( มีอยู่จริง) แต่ก็ ได้มาโดยไม่ชอบแล้ว ตามมาตรา 226/1 ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้

0 ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม