Recent Posts

Posts RSS

การบังคับชำระหนี้

1. กำหนดชำระหนี้ ถ้าเป็นกรณีที่คู่กรณีไม่ได้ตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว กฎหมาย ถือว่า หนี้นั้นถึงกำหนดชำระโดยพลัน (ม. 203)
2. การผิดนัดของลูกหนี้
2.1 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด เพราะเขาเตือนแล้ว (ม. 204 วรรคหนึ่ง)
2.2 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามวันแห่งปฏิทินแล้ว และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว โดยมิต้องเตือนก่อนเลย (ม. 204)
2.3 ถ้าเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด (ม. 206)

ผลของการที่ลูกหนี้ผิดนัด
1. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการนั้นได้ (ม.215)
2. ถ้าโดยเหตุที่ผิดนัดนั้น ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับการชำระหนี้นั้น และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ได้ (ม. 216)
3. ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างผิดนัดด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้นถึงอย่างไรก็จะเกิดมีขึ้นอยู่ดีถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันกำหนดเวลา (ม.217)
4. ในระหว่างผิดนัด ถ้าไม่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีของหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (ม. 224)

ข้อแก้ตัวของลูกหนี้ ถ้าการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้ก็ยังหาได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด (ม.205)

การผิดนัดของเจ้าหนี้
1. ถ้าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้น โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด (ม.207)
2. ในกรณีของสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมือเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยนั้น ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่พึงต้องทำแล้ว เจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด (ม.210)
- เหตุแห่งความผิดนัดในข้อนี้ เนื่องมาจากหนี้อันเกิดจากสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีลักษณะที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ (ม.369)

ผลของการที่เจ้าหนี้ผิดนัด
1. ปลดเปลื้องความรับผิดในอันที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุชำระหนี้ล่าช้า
2. ปลดเปลื้องความรับผิดในกรณีที่การชำระหนี้นั้นกลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้
3. ปลดเปลื้องความรับผิดในความเสียหายอย่างใดๆ ที่เกิดแก่ตัวทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้น
4. ปลดเปลื้องความรับผิดในดิกเบี้ยสำหรับกรณีที่เป็นหนี้เงิน

ข้อแก้ตัวของเจ้าหนี้
1. ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น (ไม่ว่าเจ้าหนี้พร้อมที่จะรับชำระหนี้นั้นหรือยัง) หากลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้จริงๆ เจ้าหนี้ก็หาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.211)
2. ในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ หรือลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนด การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.212)

0 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม