Recent Posts

Posts RSS

ความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ

  • ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง (มาตรา ๔๒๘)
    ข้อสังเกต
    (๑) จ้างให่ฝังเสาเข็มโดยไม่ได้กำหนดวิธีการฝังเสาเข็มไว้ เมื่อผู้รับจ้างตอกเสาเข็มก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างข้างเคียง ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดแต่ถ้าผู้ว่าจ้างเลือกจ้างให้ผู้รับจ้างฝังเสาเข็มโดยวิธีการตอกเสาเข็มเพราะเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อย ถ้าเกิดความเสียหายแก่ที่ดินข้างเคียง ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดเพราะการงานที่สั่งให้ทำ หรือหากผู้ว่าจ้างเป็นผู้ควบคุมการตอกเสาเข็มเองผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดเช่นกัน
    (๒) ถ้าตามสัญญาจ้างทำของมีข้อสัญญาว่าหากผู้รับจ้างไม่ทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ให้ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาได้และผู้ว่าจ้างได้ไปควบคุมการทำงานด้วย ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดร่วมด้วย
    ความรับผิดของบิดามารดา ผู้อนุบาล
    บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น (มาตรา ๔๒๙)
    ข้อสังเกต
    (๑) ต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงจะนำมาตรา ๔๒๙ มาใช้บังคับ ถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายถือว่าเป็นผู้ดูแลผู้เยาว์ต้องบังคับตามมาตรา ๔๓๐
    (๒) เห็นบุตรถือปืนเพียงแต่ได้ว่ากล่าวตักเตือนให้บุตรนำปืนไปเก็บไว้เท่านั้น ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
    (๓) บิดาเคยห้ามบุตรไม่ให้เอารถออกไปใช้และเก็บลูกกุญแจรถไว้ที่สูง แต่บุตรรู้ที่เก็บจึงลักเอากุญแจนำรถไปขับเล่นแล้วเกิดละเมิด ถือว่าบิดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
    (๔) กรณีที่ผู้เยาว์ไปกระทำการซึ่งบิดามารดาไม่รู้มาก่อนหรือไม่อาจคาดหมายได้ว่าผู้เยาว์จะไปทำการนั้น ทำให้บิดามารดาไม่มีโอกาสได้ทักท้ายว่ากล่าวตักเตือนได้ ถือว่าบิดามารดาได้ใช้ความระมัดระวังดูแลผู้เยาว์ตามสมควรแล้ว เช่น ผู้เยาว์ไปฉุดคร่าหญิงอื่นมาหรือผู้เยาว์ขับรถยนต์ของผู้อื่นจนเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๗๔/๒๕๔๔ ที่วินิจฉัยว่าการที่ผู้เยาว์ไปกระทำละเมิดที่อื่นโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นด้วย บิดามารดาไม่อาจยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้

    pim203852Sun May 30 2010 19:52:34 GMT+0700 (ICT)

  • ความรับผิดของครู อาจารย์ นายจ้าง หรือผู้รับดูแล
    ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร (มาตรา ๔๓๐)
    ข้อสังเกต กรณีอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรานี้แตกต่างจากมาตรา ๔๒๙ เนื่องจากมาตรา ๔๓๐ เป็นหน้าที่ของผู้ถูกทำละเมิดจะต้องพิสูจน์ ส่วนมาตรา ๔๒๙ ผู้ทำละเมิดต้องเป็นผู้พิสูจน์

0 ความคิดเห็น

หลักเกณฑ์การละเมิด

ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น (มาตรา ๔๒๐)
องค์ประกอบของการทำละเมิด
๑. จงใจหรือประมาทเลินเล่อ
ข้อสังเกต
(๑.๑) ข้าราชการได้รับมอบหมายให้อยู่เวรรักษาราชการ ปรากฏว่ามีทรัพย์สินของราชการหายไประหว่างอยู่เวรในในขณะนอนหลับไม่ถือว่าข้าราชการนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หรือแม้จะได้รับมอบหมายให้มาอยู่เวรแต่ไม่มาอยู่เวร หากทรัพย์สินของทางราชการหายไปไม่ใช่เหตุโดยตรงทำให้ทรัพย์สินถูกลัก แต่ถ้าข้าราชการมีหน้าที่เป็นเวรรักษาความปลอดภัย ไม่ได้อยู่เวร เป็นเหตุให้ทรัพย์สินหายถือว่าเป็นเหตุโดยตรงที่จะต้องรับผิด
(๑.๒) กรณีที่ข้าราชการทุจริต ผู้บังคับบัญชาจะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าผู้บังคับบัญชาจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำทุจริตหรือไม่ตามมาตรา ๔๒๐ เช่น ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการจนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชายักยอกเงินไป หรือว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้แต่ก็มิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปทราบในทันที กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตเงินของทางราชการ เป็นการกระทำโดยละเมิด เป็นต้น
ความยินยอมไม่เป็นละเมิด
ในกรณีที่ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำหรือเสี่ยงเข้ารับความเสียหายนั้นเอง ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ยินยอมนั้นได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นละเมิด แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้กำหนดว่า ความตกลงหรือยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะนำมาอ้างเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้ ดังนั้น ความยินยอมของผู้เสียหายที่ให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นละเมิด
ข้อสังเกต
(๑) ความยินยอมจะยกเลิกเมื่อใดก็ได้
(๒) ปลูกสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยเจ้าของที่ดินยินยอม ไม่เป็นการละเมิด แต่ความยินยอมไม่ผูกพันผู้รับโอนที่ดินคนต่อมา เจ้าของที่ดินผู้รับโอนจึงขอให้ผู้ปลูกสร้างรื้อถอนรั้วออกไปได้ ถ้าไม่รื้อถอนออกไปก็เป็นละเมิด

(๓) หญิงยินยอมร่วมประเวณีกับชายโดยถูกชายหลอกลวงว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา ไม่เป็นละเมิด

0 ความคิดเห็น

ความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะ

มาตรา ๔๓๗ บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย
ข้อสังเกต
(๑) ผู้รับผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะในขณะเกิดเหตุ ในกรณีเจ้าของรถยนต์หากไม่ได้ขับหรือโดยสารรถยนต์ไปในขณะเกิดเหตุด้วยไม่ถือว่าเป็นผู้ครอบครองตามมาตรานี้ จึงไม่ต้องรับผิด
(๒) ในกรณีเจ้าของรถยนต์ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในผลแห่งการละเมิด ต้องเป็นกรณีผู้กระทำละเมิดเป็นลูกจ้าง (มาตรา ๔๒๕) หรือตัวแทนของเจ้าของรถยนต์ (๔๒๗) หรือเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุโดยเจ้าของรถยนต์โดยสารไปด้วย (มาตรา ๔๓๗)
(๓) กรณีแม้เจ้าของรถยนต์จะนั่งไปด้วยโดยมีผู้อื่นเป็นผู้ขับ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าของรถเมาสุรานอนหลับอยู่ในรถ ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะ
(๔) กรณีเช่าซื้อรถยนต์แม้ผู้ให้เช่าซื้อจะเป็นเจ้าของรถยนต์ก็ตาม แต่ก็มิใช่ผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะนั้น ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรถยนต์นั้น (ผู้เช่าซื้อถือว่าเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช่ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในขณะเกิดเหตุ ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดเช่นกัน)
ข้อสังเกต เจ้าของรถยนต์หรือผู้เช่าซื้ออาจจะต้องรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการตามมาตรา ๔๒๕ และ ๔๒๗ ได้
(๕) มาตรา ๔๓๗ ต้องเป็นกรณีที่ยานพาหนะของฝ่ายหนึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่ หากเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกลทั้งคู่ ก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา ๔๓๗ แต่เป็นกรณีตามมาตรา ๔๒๐ (ถ้าคันหนึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลอีกคันหนึ่งจอดไว้เฉยๆ เช่นนี้ก็น่าที่จะเข้ามาตรา ๔๓๗ ได้เช่นกัน)
(๖) ไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพ หากไฟไหม้อันเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ผู้เช่าบ้านถือว่าเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าจึงต้องรับผิด แต่ถ้าเป็นกรณีไฟฟ้าที่พาดสายไปตามถนนผู้ครอบครองคือผู้จำหน่ายไฟฟ้า แต่ถ้าได้ต่อสายไฟฟ้าเข้าไปยังสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า ดังนี้ ถือว่าสายไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบ
(๗) แท่นไฮดรอลิกเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพผู้ครอบครองจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์นั้น
(๘) เครื่องบินเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกล

0 ความคิดเห็น

พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม

สรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.. 2554

1.    ให้หน่วยงานราชการ ดำเนินการด้านความปลอดภัยไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด
2.    ให้นายจ้างดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน
3.    ลูกจ้างและนายจ้างมีหน้าที่ร่วมมือในการดำเนินการด้านความปลอดภัย
4.   บุคคลที่จะทำการตรวจวัดทางด้านความปลอดภัยต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนที่สำนักงานความปลอดภัยแรงงาน
5.   นิติบุคคลที่จะทำการตรวจวัดจะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
6.   ให้นายจ้าง อบรม แจกคู่มือกับลูกจ้างก่อนเข้าทำงานในพื้นที่อันตราย
7.    ให้นายจ้างติดประกาศสัญญลักษณ์เตือนอันตราย
8.    นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยให้ลูกจ้าง และลูกจ้างต้องส่วมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน
9.   ให้ผู้รับเหมาชั้นต้นและผู้รับเหมาช่วงมีหน้าที่ดำเนินการด้านความปลอดภัย
10.                      ให้นายจ้างประเมินอันตราย ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยฯ
11.                      ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัยจะต้องขอใบอนุญาตจากอธิบดี
12.                      ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยมีอำนาจ ตรวจสอบ ตรวจวัด สอบถามข้อเท็จจริงในสถานประกอบการ
13.                      ห้ามให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย
14.                      สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย มีหน้าที่ ส่งเสริม  แก้ไข สนับสนุน ดำเนินการตามกฎหมาย
15.                      กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ สรรหา รวบรวม วิเคราะห์ จัดทำแผน ประสานงาน ดำเนินการ ติดตาม ประเมินผล รับผิดชอบ ทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามับและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
16.                      ให้นายจ้างแจ้งกับพนักงานความปลอดภัยทันทีเมื่อลูกจ้างเสียชีวิตและแจ้งรายละเอียด สาเหตุ เป็นหนังสือภายในเจ็ดวัน
17.                      ให้นายจ้างแจ้งกับพนักงานความปลอดภัยทันทีเมื่อเกิดความเสียหายจากการระเบิดแ ไฟไหม้ สารเคมีรั่ว โดยทำเป็นหนังสือบอกถึง สาเหตุ การแก้ไข และวิธีการป้องกันภายในเจ็ดวัน
18.                      ให้นายจ้างส่งสำเนาหนังสือต่อพนักงานความปลอดภัยภายในเจ็ดวันหลังที่ลูกจ้างได้รับอันตราย
19.                      พนักงานความปลอดภัยมีอำนาจให้หยุดการกระทำที่ไม่ถูกต้องและให้แก้ไขปรับปรุงภายใน สามสิบวัน
20.                      พนักงานตรวจความปลอดมีอำนาจให้บุคคลภายนอกเข้าไปแก้ไขปรับปรุงในสถานประกอบการได้หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 36
21.                      ให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับงานที่หยุดไปเท่ากับเงินค่าจ้างของลูกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างเจตนาให้มันเกิดขึ้น
22.                      นายจ้าง ลูกจ้าง มีสิทธิอุทรณ์เป็นหนังสือต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับจากมีคำสั่งของพนักงานความปลอดภัย ในมาตรา 36
23.                      พนักงานตรวจความปลอดภัยต้องแสดงบัตรประจำตัวทุกครั้ง
24.                      ให้จัดตั้งกองทุนความปลอดภัย เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายทางด้านความปลอดภัย
25.                      เงินกองทุนใช้จ่ายเพื่อ รณรงค์ ส่งเสริม แก้ไข บริหาร ช่วยเหลือ สนับสนุน ทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
26.                      คณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย มีหน้าที่ กำกับ จัดสรรเงิน วางระบียบเกี่ยวกับเงิน หลักเกณฑ์ และอื่นๆ ตามกฎหมาย
27.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตราที่ 8 ต้องจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท
28.                      ผู้ที่มีหน้าที่ รับรอง ตรวจสอบ รายงานตามมาตรา 8 วรรคสองกรอกข้อความเท็จต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
29.                     ผู้ที่ตรวจวัด ตรวจสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง จัดอบรม ให้คำปรึกษาโดยไม่ขึ้นทะเบียนต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
30.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 , 16 และ 32 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท
31.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 และ 34 ปรับไม่เกินห้าหมื่น
32.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 และ 17 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
33.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท
34.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18 วรรคสอง ต้องจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
35.                      ผู้ที่ขัดขวางการทำงานของนายจ้าง ตามมาตรา 19 และพนักงานตรวจความปลอดภัย ตามมาตรา 37 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
36.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง ต้องจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
37.                      ผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตในการเป็นผู้ชำนาญการทางด้านความปลอดภัย ตามมาตรา 33 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
38.                      ผู้ที่ขัดขวางในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานความปลอดภัยตามมาตรา 35 หรือ 36 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
39.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจความปลอดภัยตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
40.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหรือระงับคำสั่งการใช้ของพนักงานตรวจความปลอดภัยต้องจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินแปดแสนบาท
41.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 ต้องปรับครั้งละไม่เกินห้าหมื่น
42.                      นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติการตามมาตรา 42 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
43.                      นิติบุคคลที่ทำผิดต้องได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้
44.                     ผู้ที่เปิดเผยข้อเท็จจริงของนายจ้างที่สงวนเอาไว้ต้องจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท
ความผิดทั้งหมดในพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท เห็นว่าไม่กระทำผิดให้มีอำนาจเปรียบเทียบได้ 1.อธิบดี  2. ผู้ว่าราชการจังหวัด 

0 ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม