Recent Posts

Posts RSS

การประนีประนอมยอมความ

สัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๕๐-๘๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
              มาตรา ๘๕๐ บัญญัติว่า การประนีประนอมยอมความ คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนให้แก่กัน
            มาตรา ๘๕๑ ใจความสำคัญ คือ สัญญาประนีประนอมจะใช้บังคับกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลงลายมือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องต่อศาลได้
         มาตรา ๘๕๒ ใจความสำคัญ คือ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ คือ ทำให้การเรียกร้อง ซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละได้ระงับลง และได้สิทธิใหม่ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความ
การประนีประนอมยอมความเกิดได้อย่างไร
การประนีประนอมยอมความเกิดได้ ๒ ทาง
 (๑) โดยตัวคู่ความเอง เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นไม่ว่าเพิ่งเริ่มเกิดหรือเมื่อนำข้อพิพาทยื่นฟ้องต่อศาลแล้วก็ตารมอาจเกิดสถานการณ์ที่เหมาะสมที่เอื้ออำนวยให้คู่ความสองฝ่ายโอนอ่อนเข้าหากันทำนองต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันสั้นยาวให้แก่กันคู่ความทั้งสองฝ่ายอาจตกลงใจกันทำสัญญายอมความกันได้ด้วยตัวของคู่ความเองก็ได้   
(๒) โดยการไก่เกลี่ยของบุคลทีสาม    เมื่อเกิดมีข้อพิพาทขึ้นระหว่างคู่ความสองฝ่ายจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการป้องกันตนเองตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของตน มนุษย์จะเกิดความคิดเข้าข้างตนเองและจะเกิดความรู้สึกโกรธที่สิทธิของตนเองถูกล่วงละเมิด  โดยเฉพาะความรู้สึกของผู้สูญเสีย  โดยธรรมชาติข้อนี้ทำให้คู่ความมักจะยึดมั่นในจุดยืนของตนเองว่าต้องเป็นอย่างที่ตนคิดหรือคาดการณ์ไว้และจะไม่ยอมโอนอ่อนแม้จะถูกเจรจาต่อรองจากฝ่ายตรงข้าม  สภาพดังกล่าวยิ่งจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถ้าหากต่างฝ่ายต่างก็ถือว่าตนเองเป็นฝ่ายที่ถูกต้องมากกว่า   ความขัดแย้งทำให้เกิดอารมณ์เข้ามาแทรก  ยงถ้าหากได้แรงยุแหย่จากบุคคลอื่น  สภาพอารมณ์จะยิ่งรุนแรง  ทิฐิมานะการรักษาศักดิ์ศรีจะเกิดตามมาทำให้จุดยืนเหนียวแน่น  ยากแก่การเจรจาต่อรอง
                    ด้วยเหตุดังกล่าวหากมีบุคคลที่สามารถเข้ามาเป็นกาวใจ  โดยสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจของทั้งสองฝ่ายได้อย่างสนิทแนบแน่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ตั้งใจและเป็นกลางอย่างแท้จริงบุคคลที่สาม  ก็สามารถจะโยกคลอนจุดยืนของแต่ละฝ่ายให้อ่อนโอนลงมาหากันได้จนสุดท้ายต่างฝ่ายต่างพบทางออกของปัญหาที่ก่อนนั้นเป็นทางตันจนสามารถตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ในลักษณะต่างฝ่ายต่างพอใจในที่สุด
ประเภทของการประนอมยอมความ  
การประนีประนอมยอมความนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิด คือ
(๑)    การประนีประนอมยอมความนอกศาล
(๒)การประนีประนอมยอมความในศาล
                การประนีประนอมยอมความนอกศาล    เป็นกรณีที่ผู้มีข้อพิพาทต่อกันได้ทำความตกลงกัน  ซึ้งอาจเป็นกรณีที่คู่กรณีพิพาทได้เจรจาทำความตกลงกันเองหรือมีองค์กรบุคคลภายนอกเข้าดำเนินการเป็นคนกลางทำการไกล่เกลี่ยก็ได้จนในที่สุดสามารถทำความตกลงกันได้  แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ 
               การประนีประนอมยอมความในศาล    เป็นกรณีที่เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นได้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล  และในระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดีดังกล่าวอยู่  คู่กรณีได้ทำความตกลงกันได้ในข้อพิพาทดังกล่าว  ทำให้ข้อพิพาทที่มีอยู่นั้นสิ้นสุดลงจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันขึ้นแล้วเสนอให้ศาลพิจารณา ซึ่งเมื่อศาลเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายศาลก็จะพิพากษาให้เป็นไปตามที่ได้ยอมความกันดังกล่าว

0 ความคิดเห็น

ฟ้องซ้อน 173 วรรค 2 (1)

มาตรา 173    เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง  ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น
นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา  และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น
หลักเกณฑ์สำคัญ
คำว่า   ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่น”  หมายความว่าโจทก์จะยื่นคำฟ้องจำเลยคนเดียวกันในเรื่องเดียวกันในขณะที่คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาต่อศาลนั้นไม่ได้หรือต่อศาลอื่นก็ไม่ได้
1.            ห้ามโจทก์ฟ้อง
2.            ต้องเป็นคู่ความเดียวกัน
3.            ต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
4.            คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
5.            ไม่จำกัดศาลว่าต้องเป็นศาลเดียวกัน



หลักเกณฑ์ข้อที่ 1  โจทก์หมายถึง
1.            โจทก์เดิม
2.            จำเลยผู้ฟ้องแย้ง  ซึ่งมีฐานนะเป็นโจทก์ในคำฟ้องแย้ง
3.            ผู้ร้องขัดทรัพย์  เพราะเมื่อมีการร้องขัดทรัพย์ ในคดีร้องขัดทรัพย์ผู้ร้องเป็นโจทก์ โจทก์เดิมเป็นจำเลย
4.            ผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (1)  เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ มีฐานะเป็นโจทก์เช่นกัน
5.            ผู้ร้องสอดโดยสมัครใจตามมาตรา 57(2)

หลักเกณฑ์ข้อที่  2    ต้องเป็นคู่ความเดียวกัน     หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายคดีก่อน และคดีหลังต้องเป็นคู่ความเดียวกัน  ต้องเป็นโจทก์ จำเลยคนเดียวกันรวมทั้งผู้สืบสิทธิ  ถ้าพลัดกันเป็นโจทก์ เป็นจำเลยก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องฟ้องซ้อน

0 ความคิดเห็น

ฟ้องซ้ำ ม.148 วิแพ่ง

มาตรา 148     คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษา  หรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่  ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
หลักเกณฑ์สำคัญ                                     
มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
คู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกัน
ประเด็นที่วินิจฉัยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

0 ความคิดเห็น

ความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ

  • ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง (มาตรา ๔๒๘)
    ข้อสังเกต
    (๑) จ้างให่ฝังเสาเข็มโดยไม่ได้กำหนดวิธีการฝังเสาเข็มไว้ เมื่อผู้รับจ้างตอกเสาเข็มก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างข้างเคียง ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดแต่ถ้าผู้ว่าจ้างเลือกจ้างให้ผู้รับจ้างฝังเสาเข็มโดยวิธีการตอกเสาเข็มเพราะเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อย ถ้าเกิดความเสียหายแก่ที่ดินข้างเคียง ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดเพราะการงานที่สั่งให้ทำ หรือหากผู้ว่าจ้างเป็นผู้ควบคุมการตอกเสาเข็มเองผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดเช่นกัน
    (๒) ถ้าตามสัญญาจ้างทำของมีข้อสัญญาว่าหากผู้รับจ้างไม่ทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ให้ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาได้และผู้ว่าจ้างได้ไปควบคุมการทำงานด้วย ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดร่วมด้วย
    ความรับผิดของบิดามารดา ผู้อนุบาล
    บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น (มาตรา ๔๒๙)
    ข้อสังเกต
    (๑) ต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงจะนำมาตรา ๔๒๙ มาใช้บังคับ ถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายถือว่าเป็นผู้ดูแลผู้เยาว์ต้องบังคับตามมาตรา ๔๓๐
    (๒) เห็นบุตรถือปืนเพียงแต่ได้ว่ากล่าวตักเตือนให้บุตรนำปืนไปเก็บไว้เท่านั้น ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
    (๓) บิดาเคยห้ามบุตรไม่ให้เอารถออกไปใช้และเก็บลูกกุญแจรถไว้ที่สูง แต่บุตรรู้ที่เก็บจึงลักเอากุญแจนำรถไปขับเล่นแล้วเกิดละเมิด ถือว่าบิดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
    (๔) กรณีที่ผู้เยาว์ไปกระทำการซึ่งบิดามารดาไม่รู้มาก่อนหรือไม่อาจคาดหมายได้ว่าผู้เยาว์จะไปทำการนั้น ทำให้บิดามารดาไม่มีโอกาสได้ทักท้ายว่ากล่าวตักเตือนได้ ถือว่าบิดามารดาได้ใช้ความระมัดระวังดูแลผู้เยาว์ตามสมควรแล้ว เช่น ผู้เยาว์ไปฉุดคร่าหญิงอื่นมาหรือผู้เยาว์ขับรถยนต์ของผู้อื่นจนเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๗๔/๒๕๔๔ ที่วินิจฉัยว่าการที่ผู้เยาว์ไปกระทำละเมิดที่อื่นโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นด้วย บิดามารดาไม่อาจยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้

    pim203852Sun May 30 2010 19:52:34 GMT+0700 (ICT)

  • ความรับผิดของครู อาจารย์ นายจ้าง หรือผู้รับดูแล
    ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร (มาตรา ๔๓๐)
    ข้อสังเกต กรณีอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรานี้แตกต่างจากมาตรา ๔๒๙ เนื่องจากมาตรา ๔๓๐ เป็นหน้าที่ของผู้ถูกทำละเมิดจะต้องพิสูจน์ ส่วนมาตรา ๔๒๙ ผู้ทำละเมิดต้องเป็นผู้พิสูจน์

0 ความคิดเห็น

หลักเกณฑ์การละเมิด

ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น (มาตรา ๔๒๐)
องค์ประกอบของการทำละเมิด
๑. จงใจหรือประมาทเลินเล่อ
ข้อสังเกต
(๑.๑) ข้าราชการได้รับมอบหมายให้อยู่เวรรักษาราชการ ปรากฏว่ามีทรัพย์สินของราชการหายไประหว่างอยู่เวรในในขณะนอนหลับไม่ถือว่าข้าราชการนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หรือแม้จะได้รับมอบหมายให้มาอยู่เวรแต่ไม่มาอยู่เวร หากทรัพย์สินของทางราชการหายไปไม่ใช่เหตุโดยตรงทำให้ทรัพย์สินถูกลัก แต่ถ้าข้าราชการมีหน้าที่เป็นเวรรักษาความปลอดภัย ไม่ได้อยู่เวร เป็นเหตุให้ทรัพย์สินหายถือว่าเป็นเหตุโดยตรงที่จะต้องรับผิด
(๑.๒) กรณีที่ข้าราชการทุจริต ผู้บังคับบัญชาจะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าผู้บังคับบัญชาจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำทุจริตหรือไม่ตามมาตรา ๔๒๐ เช่น ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการจนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชายักยอกเงินไป หรือว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้แต่ก็มิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปทราบในทันที กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตเงินของทางราชการ เป็นการกระทำโดยละเมิด เป็นต้น
ความยินยอมไม่เป็นละเมิด
ในกรณีที่ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำหรือเสี่ยงเข้ารับความเสียหายนั้นเอง ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ยินยอมนั้นได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นละเมิด แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้กำหนดว่า ความตกลงหรือยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะนำมาอ้างเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้ ดังนั้น ความยินยอมของผู้เสียหายที่ให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นละเมิด
ข้อสังเกต
(๑) ความยินยอมจะยกเลิกเมื่อใดก็ได้
(๒) ปลูกสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยเจ้าของที่ดินยินยอม ไม่เป็นการละเมิด แต่ความยินยอมไม่ผูกพันผู้รับโอนที่ดินคนต่อมา เจ้าของที่ดินผู้รับโอนจึงขอให้ผู้ปลูกสร้างรื้อถอนรั้วออกไปได้ ถ้าไม่รื้อถอนออกไปก็เป็นละเมิด

(๓) หญิงยินยอมร่วมประเวณีกับชายโดยถูกชายหลอกลวงว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา ไม่เป็นละเมิด

0 ความคิดเห็น

ความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะ

มาตรา ๔๓๗ บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย
ข้อสังเกต
(๑) ผู้รับผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะในขณะเกิดเหตุ ในกรณีเจ้าของรถยนต์หากไม่ได้ขับหรือโดยสารรถยนต์ไปในขณะเกิดเหตุด้วยไม่ถือว่าเป็นผู้ครอบครองตามมาตรานี้ จึงไม่ต้องรับผิด
(๒) ในกรณีเจ้าของรถยนต์ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในผลแห่งการละเมิด ต้องเป็นกรณีผู้กระทำละเมิดเป็นลูกจ้าง (มาตรา ๔๒๕) หรือตัวแทนของเจ้าของรถยนต์ (๔๒๗) หรือเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุโดยเจ้าของรถยนต์โดยสารไปด้วย (มาตรา ๔๓๗)
(๓) กรณีแม้เจ้าของรถยนต์จะนั่งไปด้วยโดยมีผู้อื่นเป็นผู้ขับ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าของรถเมาสุรานอนหลับอยู่ในรถ ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะ
(๔) กรณีเช่าซื้อรถยนต์แม้ผู้ให้เช่าซื้อจะเป็นเจ้าของรถยนต์ก็ตาม แต่ก็มิใช่ผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะนั้น ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรถยนต์นั้น (ผู้เช่าซื้อถือว่าเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช่ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในขณะเกิดเหตุ ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดเช่นกัน)
ข้อสังเกต เจ้าของรถยนต์หรือผู้เช่าซื้ออาจจะต้องรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการตามมาตรา ๔๒๕ และ ๔๒๗ ได้
(๕) มาตรา ๔๓๗ ต้องเป็นกรณีที่ยานพาหนะของฝ่ายหนึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่ หากเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกลทั้งคู่ ก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา ๔๓๗ แต่เป็นกรณีตามมาตรา ๔๒๐ (ถ้าคันหนึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลอีกคันหนึ่งจอดไว้เฉยๆ เช่นนี้ก็น่าที่จะเข้ามาตรา ๔๓๗ ได้เช่นกัน)
(๖) ไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพ หากไฟไหม้อันเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ผู้เช่าบ้านถือว่าเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าจึงต้องรับผิด แต่ถ้าเป็นกรณีไฟฟ้าที่พาดสายไปตามถนนผู้ครอบครองคือผู้จำหน่ายไฟฟ้า แต่ถ้าได้ต่อสายไฟฟ้าเข้าไปยังสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า ดังนี้ ถือว่าสายไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบ
(๗) แท่นไฮดรอลิกเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพผู้ครอบครองจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์นั้น
(๘) เครื่องบินเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกล

0 ความคิดเห็น

พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม

สรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.. 2554

1.    ให้หน่วยงานราชการ ดำเนินการด้านความปลอดภัยไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด
2.    ให้นายจ้างดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน
3.    ลูกจ้างและนายจ้างมีหน้าที่ร่วมมือในการดำเนินการด้านความปลอดภัย
4.   บุคคลที่จะทำการตรวจวัดทางด้านความปลอดภัยต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนที่สำนักงานความปลอดภัยแรงงาน
5.   นิติบุคคลที่จะทำการตรวจวัดจะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
6.   ให้นายจ้าง อบรม แจกคู่มือกับลูกจ้างก่อนเข้าทำงานในพื้นที่อันตราย
7.    ให้นายจ้างติดประกาศสัญญลักษณ์เตือนอันตราย
8.    นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยให้ลูกจ้าง และลูกจ้างต้องส่วมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน
9.   ให้ผู้รับเหมาชั้นต้นและผู้รับเหมาช่วงมีหน้าที่ดำเนินการด้านความปลอดภัย
10.                      ให้นายจ้างประเมินอันตราย ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยฯ
11.                      ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัยจะต้องขอใบอนุญาตจากอธิบดี
12.                      ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยมีอำนาจ ตรวจสอบ ตรวจวัด สอบถามข้อเท็จจริงในสถานประกอบการ
13.                      ห้ามให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย
14.                      สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย มีหน้าที่ ส่งเสริม  แก้ไข สนับสนุน ดำเนินการตามกฎหมาย
15.                      กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ สรรหา รวบรวม วิเคราะห์ จัดทำแผน ประสานงาน ดำเนินการ ติดตาม ประเมินผล รับผิดชอบ ทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามับและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
16.                      ให้นายจ้างแจ้งกับพนักงานความปลอดภัยทันทีเมื่อลูกจ้างเสียชีวิตและแจ้งรายละเอียด สาเหตุ เป็นหนังสือภายในเจ็ดวัน
17.                      ให้นายจ้างแจ้งกับพนักงานความปลอดภัยทันทีเมื่อเกิดความเสียหายจากการระเบิดแ ไฟไหม้ สารเคมีรั่ว โดยทำเป็นหนังสือบอกถึง สาเหตุ การแก้ไข และวิธีการป้องกันภายในเจ็ดวัน
18.                      ให้นายจ้างส่งสำเนาหนังสือต่อพนักงานความปลอดภัยภายในเจ็ดวันหลังที่ลูกจ้างได้รับอันตราย
19.                      พนักงานความปลอดภัยมีอำนาจให้หยุดการกระทำที่ไม่ถูกต้องและให้แก้ไขปรับปรุงภายใน สามสิบวัน
20.                      พนักงานตรวจความปลอดมีอำนาจให้บุคคลภายนอกเข้าไปแก้ไขปรับปรุงในสถานประกอบการได้หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 36
21.                      ให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับงานที่หยุดไปเท่ากับเงินค่าจ้างของลูกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างเจตนาให้มันเกิดขึ้น
22.                      นายจ้าง ลูกจ้าง มีสิทธิอุทรณ์เป็นหนังสือต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับจากมีคำสั่งของพนักงานความปลอดภัย ในมาตรา 36
23.                      พนักงานตรวจความปลอดภัยต้องแสดงบัตรประจำตัวทุกครั้ง
24.                      ให้จัดตั้งกองทุนความปลอดภัย เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายทางด้านความปลอดภัย
25.                      เงินกองทุนใช้จ่ายเพื่อ รณรงค์ ส่งเสริม แก้ไข บริหาร ช่วยเหลือ สนับสนุน ทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
26.                      คณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย มีหน้าที่ กำกับ จัดสรรเงิน วางระบียบเกี่ยวกับเงิน หลักเกณฑ์ และอื่นๆ ตามกฎหมาย
27.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตราที่ 8 ต้องจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท
28.                      ผู้ที่มีหน้าที่ รับรอง ตรวจสอบ รายงานตามมาตรา 8 วรรคสองกรอกข้อความเท็จต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
29.                     ผู้ที่ตรวจวัด ตรวจสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง จัดอบรม ให้คำปรึกษาโดยไม่ขึ้นทะเบียนต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
30.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 , 16 และ 32 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท
31.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 และ 34 ปรับไม่เกินห้าหมื่น
32.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 และ 17 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
33.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท
34.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18 วรรคสอง ต้องจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
35.                      ผู้ที่ขัดขวางการทำงานของนายจ้าง ตามมาตรา 19 และพนักงานตรวจความปลอดภัย ตามมาตรา 37 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
36.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง ต้องจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
37.                      ผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตในการเป็นผู้ชำนาญการทางด้านความปลอดภัย ตามมาตรา 33 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
38.                      ผู้ที่ขัดขวางในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานความปลอดภัยตามมาตรา 35 หรือ 36 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
39.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจความปลอดภัยตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
40.                      ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหรือระงับคำสั่งการใช้ของพนักงานตรวจความปลอดภัยต้องจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินแปดแสนบาท
41.                      นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 ต้องปรับครั้งละไม่เกินห้าหมื่น
42.                      นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติการตามมาตรา 42 ต้องจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
43.                      นิติบุคคลที่ทำผิดต้องได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้
44.                     ผู้ที่เปิดเผยข้อเท็จจริงของนายจ้างที่สงวนเอาไว้ต้องจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท
ความผิดทั้งหมดในพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท เห็นว่าไม่กระทำผิดให้มีอำนาจเปรียบเทียบได้ 1.อธิบดี  2. ผู้ว่าราชการจังหวัด 

0 ความคิดเห็น

การบังคับชำระหนี้

1. กำหนดชำระหนี้ ถ้าเป็นกรณีที่คู่กรณีไม่ได้ตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว กฎหมาย ถือว่า หนี้นั้นถึงกำหนดชำระโดยพลัน (ม. 203)
2. การผิดนัดของลูกหนี้
2.1 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด เพราะเขาเตือนแล้ว (ม. 204 วรรคหนึ่ง)
2.2 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามวันแห่งปฏิทินแล้ว และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว โดยมิต้องเตือนก่อนเลย (ม. 204)
2.3 ถ้าเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด (ม. 206)

ผลของการที่ลูกหนี้ผิดนัด
1. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการนั้นได้ (ม.215)
2. ถ้าโดยเหตุที่ผิดนัดนั้น ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับการชำระหนี้นั้น และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ได้ (ม. 216)
3. ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างผิดนัดด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้นถึงอย่างไรก็จะเกิดมีขึ้นอยู่ดีถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันกำหนดเวลา (ม.217)
4. ในระหว่างผิดนัด ถ้าไม่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีของหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (ม. 224)

ข้อแก้ตัวของลูกหนี้ ถ้าการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้ก็ยังหาได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด (ม.205)

การผิดนัดของเจ้าหนี้
1. ถ้าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้น โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด (ม.207)
2. ในกรณีของสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมือเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยนั้น ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่พึงต้องทำแล้ว เจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด (ม.210)
- เหตุแห่งความผิดนัดในข้อนี้ เนื่องมาจากหนี้อันเกิดจากสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีลักษณะที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ (ม.369)

ผลของการที่เจ้าหนี้ผิดนัด
1. ปลดเปลื้องความรับผิดในอันที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุชำระหนี้ล่าช้า
2. ปลดเปลื้องความรับผิดในกรณีที่การชำระหนี้นั้นกลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้
3. ปลดเปลื้องความรับผิดในความเสียหายอย่างใดๆ ที่เกิดแก่ตัวทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้น
4. ปลดเปลื้องความรับผิดในดิกเบี้ยสำหรับกรณีที่เป็นหนี้เงิน

ข้อแก้ตัวของเจ้าหนี้
1. ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น (ไม่ว่าเจ้าหนี้พร้อมที่จะรับชำระหนี้นั้นหรือยัง) หากลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้จริงๆ เจ้าหนี้ก็หาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.211)
2. ในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ หรือลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนด การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ (ม.212)

0 ความคิดเห็น

ความสามารถของบุคคล

1. ผู้เยาว์ บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ม. 19)
ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย (ม.20) สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17ปีบริบูรณ์ หรือ เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรส (ม. 1448) จำไว้ว่า “บรรลุแล้วบรรลุเลย”
ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” ก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นๆ เป็นโมฆียะ คืออาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง (ม.21)
ผู้เยาว์อาจทำนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้เอง โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือ
1. ทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ (ม.25)
2. นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว (ม. 22) เช่น รับการให้โดยไม่มีข้อผูกพัน
3. นิติกรรมที่ต้องทำเองเฉพาะตัว (ม. 23) เช่น การรับรองบุตร กรณีตาม มาตรา 1548
4. นิติกรรมที่สมควรแก่ฐานานุรูป และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามควร (ม.24)
5. เมื่อผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ประกอบการค้า (ม.27)
2. คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ (ม. 28) และจัดให้อยู่ในความอนุบาล นิติกรรมที่คนไร้ความสามรถกระทำลงย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น แม้จะได้รับความยินยอมจาก “ผู้อนุบาล” ก็ไม่ได้
(ม. 29)
ส่วนคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากไปทำนิติกรรม ย่อมต้องถือว่ามีผลสมบูรณ์ เว้นแต่ว่า ได้กระทำในขณะจริตวิกล + คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้ว นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆียะ (ม.30)
3. คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลที่ปรากฏว่า ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ เพราะมีกายพิการ จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ แต่ไม่ถึงขนาดวิกลจริต ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเมา เมื่อคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยให้อยู่ใน “ความพิทักษ์” ก็ได้ (ม. 32)

0 ความคิดเห็น

บุคคลธรรมดา

สภาพบุคคล ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอด การคลอดนั้นหมายถึง การที่ทารกออกมาจากครรภ์มารดาหมดทั้งตัวแล้ว แม้จะยังไม่ตัดสายสะดือ และต้องรอดอยู่ด้วย แม้เพียงชั่วระยะเวลานิดเดียวก็มีสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สินย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดก เช่น อาจรับมรดกของบิดาซึ่งตายก่อนเด็กคลอดได้ เป็นต้น (มาตรา 15)
ภูมิลำเนาของบุคคล มีหลักตามกฎหมายดังนี้
1. ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งสำคัญ (ม.37)
2. ถ้าบุคคลมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกัน หรือมีแหล่งที่ทำมาหากินเป็นปกติหลายแห่ง ก็ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น (ม. 38)
3. ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา (ม.39)
4. ถ้าไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นปกติ หรือไม่มีที่ทำการงานเป็นหลักแหล่ง ถ้าพบตัวในถิ่นไหนก็ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 40)
5. บุคคลอาจแสดงเจตนากำหนดภูมิลำเนา ณ ถิ่นใดเพื่อกระทำการใด ก็ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการนั้น (ม. 42)
6. ภูมิลำเนาของบุคคลบางประเภท เช่น ผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ กฎหมายให้ใช้ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมหรือของผู้อนุบาล (ม.44,45)
7. ข้าราชการ ภูมิลำเนาได้แก่ถิ่นที่ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่อยู่ประจำ ถ้าเป็นเพียงแต่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการชั่วคราวไม่ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 46)
8. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ภูมิลำเนาได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว (ม. 47)
*** การเปลี่ยนภูมิลำเนากระทำได้โดยการแสดงเจตนาว่าจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาและย้ายถิ่นที่อยู่ (ม. 41)

0 ความคิดเห็น

อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

ความหมายของอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
           อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอัน เดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย
อสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยทรัพย์สิน ๔ ประเภท คือ
ก.  ที่ดิน
ข.  ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร
ค.  ทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ง.  ทรัพย์สิทธิ์อันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอัน
เดียวกับที่ดิน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับที่ดิน
(๑) ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นจึงจะมีการครอบครองปรปักษ์ได้ ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ก็จะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
(๒) ที่ดินที่มีแต่เพียงสิทธิครองครองโอนกันได้ด้วยการส่งมอบเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนก็อาจจะมีได้หากเป็นที่ดินที่มีทะเบียนที่ดิน เช่น น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก
(๓) ที่ดินพิพาทซึ่งนายดำครอบครองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) ที่นายแดงมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ ว่า นายแดงซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ข้อสนันิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ จึงรวมถึงที่ดินที่มี น.ส. ๓ และ น.ส. ๓ ก ด้วย
ข้อสังเกต เรื่องนี้ถือมาตรา ๑๓๗๓ มาก่อนมาตรา ๑๓๖๗ กล่าวคือ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองใน น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเป็นคุณมากกว่าคนที่ครอบครองยึดถืออยู่ตามมาตรา ๑๓๖๗
(๔) ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองทำประโยชน์ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธครอบครอง แม้นายดำจะได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการยึดถือครอบครองแต่การได้มาของนายดำเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน นายดำจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายแดงซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสีย ค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นายแดงจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท
ข้อสังเกตเกี่ยวกับทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร
(๑) ทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยธรรมชาติ กับทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ
(๒) ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๓) ทรัพย์ที่มีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรแล้ว จะติดอยู่กับที่ดินนานเท่าไรไม่สำคัญ ถ้าโดยสภาพมีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรก็เป็นอสังหาริมทรัพย์แม้จะติด อยู่เป็นระยะเวลาไม่นานก็ตาม
(๔) เครื่องจักรโรงสีไม่ใช่ส่วนควบ เป็นเพียงของใช้ประจำอยู่กับโรงสีจึงเป็นอุปกรณ์ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์เท่า นั้น ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๕) แผงลอยที่มิได้ติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์
ข้อสังเกตของทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
             ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินหากแยกออกจากตัวพื้นดิน ก็ย่อมขาดจากลักษณะของการเป็นทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ตัวอย่าง   ขุดดินในที่ดินไปขายถือว่าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ เพราะดินได้ขาดออกจากตัวที่ดินแล้วจึงเป็นสังหาริมทรัพย์
ข้อสังเกตทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(๑)  สิทธิรับจำนองที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๒) หุ้นในห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งมีทรัพย์สินเป็นที่ดินไม่ใช่สิทธิในอสังหาริมทรัพย์
(๓) สิทธิเช่าซื้อเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๔) สิทธิเช่าอาคารเป็นสิทธิเกียวกับตัวอาคารไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นสังหาริมทรัพย์
**ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้
             ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว
             ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย
        การแบ่งประเภททรัพย์ออกเป็นทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของรวม เพราะถ้าเป็นทรัพย์แบ่งได้ก็มักไม่มีปัญหา สามารถแบ่งได้ตามส่วน แต่หากเป็นทรัพย์แบ่งไม่ได้อาจต้องมีวิธีแบ่งอย่างอื่น เช่น นำทรัพย์ไปขายเพื่อนำเงินมาแบ่งกัน เป็นต้น
ทรัพย์แบ่งได้ มีองค์ประกอบดังนี้
(๑) ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถแยกออกจากกันได้
(๒) เมื่อแยกออกจากกันได้แล้วไม่เสียสภาพรูปทรงไป
ทรัพย์แบ่งไม่ได้ มีความหมาย ๒ นัย คือ
                 (๒.๑)  ทรัพย์แบ่งไม่ได้โดยสภาพ 
                 (๒.๒) ทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้
ข้อสังเกต
(๑) หุ้นเป็นทรัพย์แบ่งแยกไม่ได้ตามมาตรา ๑๑๑๘ วรรคหนึ่ง
(๒) ส่วนควบ ภาระจำยอม และสิทธิจำนอง แบ่งไม่ได้
**ทรัพย์นอกพาณิชย์
                ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์นอกพาณิชย์มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้
๒. ทรัพย์ที่โอนแก่กันไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่กฎหมายห้ามโอนจะต้องมีอยู่ ๒ ประการ คือ
                 (๑)  ต้องเป็นการห้ามโอนโดยกฎหมายบัญญัติไว้
                 (๒) ลักษณะของการห้ามโอนจะต้องเป็นการห้ามโอนโดยถาวร
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จะสละหรือโอนไม่ได้
(๒) ที่วัด ที่ธรณีสมฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๓) ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามโอนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการห้ามโอนโดยนิติกรรมก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๔) การห้ามโอนโดยมีกำหนดระยะเวลา เช่น การห้ามโอนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือประมวลกฎหมาย ที่ดิน ไม่ใช่เป้นการห้ามโอนโดยถาวรจึงไม่เป้นทรัพย์นอกพาณิชย์ กรณีนี้มีปัญหาว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนว่าพอพ้นกำหนดเวลาแล้ว ค่อยโอนกัน ข้อสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้มีข้อพิจารณาว่า
(๔.๑) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ห้ามโอนก็เป็นโมฆะ
(๔.๒) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยง ก็ไม่เป็นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๑  นาย ก. มีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย ข. โดยมีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน เมื่อนาย ก. ยังไม่ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลาห้ามโอน ๑๐ ปี จึงถือว่าไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๒  นายแดงมีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายดำภายในระยะเวลาห้ามโอน โดยได้มีการชำระเงินกันแล้วและนายแดงได้มอบที่ดินให้นายดำเข้าครอบครองแล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่านายแดงจะจดทะเบียนโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยชัดแจ้ง สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงตกเป้นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๓  นายแดงเจ้าของที่ดินทำสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับนายดำในระยะเวลาห้ามโอนตาม กฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่กันได้ นายดำจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่หากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว นายแดงได้สละเจตนาครอบครองหรือนายแดงได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายดำแล้ว เช่นนี้นายดำก็มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้านายแดงยังไม่ได้สละเจตนาครอบครองหรือมิได้มีการมอบการครอบครองให้แก่ นายดำ แม้นายดำจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมาก็ถือว่านายดำครอบครองแทนนาย แดง เมื่อถือว่านายดำเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนนายแดง หากนายดำโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก ก็จะเข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เพราะถือว่าบุคคลภายนอกครอบครองที่ดินแทนนายแดงเช่นเดียวกัน แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดำเข้าครอบครองที่ดินนับแต่ได้ซื้อจากนายแดงมา ตลอดแม้ในระยะเวลาห้ามโอน นายดำยังไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่เมื่อนายดำครอบครองที่ดินตลอดมาจนล่วงระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนายดำตลอดมาโดยไม่มีผู้อื่นเข้ามายุ่ง เกี่ยวแย่งการครอบครอง การครอบครองที่ดินของนายดำดังกล่าวจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตน แล้ว นายดำย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗

0 ความคิดเห็น

กฎหมายลักษณะทรัพย์และที่ดิน

     ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
            ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ข้อสังเกต ทรัพย์ นอกจากหมายความรวมถึงวัตถุมีรูปร่างแล้ว จะต้องเป็นวัตถุที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ด้วยตามความหมายของทรัพย์สิน
**ความหมายของคำว่า อาจมีราคาและอาจถือเอาได้
           วัตถุ มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างจะเป็นทรัพย์และทรัพย์สินได้ก็ต่อเมื่ออาจมีราคา และอาจถือเอาได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ข้อสังเกต ร่างกายของมนุษย์ถ้ารวมอยู่ในส่วนของร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่ถือว่าป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ถ้าขาดออกหรือหลุดออกมาแล้วก็อาจเป็นทรัพย์ได้ เช่น เส้นผมหรือเล็บมือ เป็นต้น ในส่วนของศพจะเป็นทรัพย์หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อยุติและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ยังไม่ชัดเจน
กรณีสิทธิต่างๆ นั้น แม้จะไม่มีรูปร่าง แต่หากมีราคาและอาจถือเอาได้ ศาลฎีกาก็เคยมีคำพิพากษาว่าเป็นทรัพย์สิน เช่น
(๑) หุ้นในบริษัท
ข้อสังเกต การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนและ ผู้รับโอนและมีพยานอย่างน้อย ๒ คน รับรองลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน หากไม่ทำตามเป็นโมฆะ แต่ถึงแม้การโอนจะเป็นโมฆะก็ตาม หากผู้รับโอนได้ยึดถือหุ้นหรือครอบครองหุ้นมาเป็นเวลา ๕ ปี ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ ได้
(๒) สิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย
(๓) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ

(๔) สิทธิในการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร
ข้อสังเกต การโอนสิทธิประทานบัตรนั้นหากมีเงื่อนไขเป็นพิเศษว่าเป็นการให้เฉพาะตัวแก่ คนใดคนหนึ่ง ก็จะโอนกันไม่ได้หรือจะนำมาชำระหนี้ไม่ได้ด้วย
               กรณีเครื่องหมายการค้า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามมาตรา ๑๓๘๒
ประเภอของทรัพย์สิน
๑. อสังหาริมทรัพย์
๒. สังหาริมทรัพย์
๓. ทรัพย์แบ่งได้
๔. ทรัพย์แบ่งไม่ได้
๕. ทรัพย์นอกพาณิชย์
**อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์(๑) อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินจะต้องมีเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอ แต่สังหาริมทรัพย์อาจจะไม่มีเจ้าของก็ได้
(๒) ทรัพย์สิทธิบางอย่าง ได้แก่ สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ภาระจำยอม สิทธิเหนือพื้นดิน และภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ส่วนในสังหาริมทรัพย์ไม่มีสิทธิดังกล่าว
(๓) ระยะเวลาในการครอบครองปรปักษ์ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลา ๑๐ ปี แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลาครอบครองปรกักษ์ ๕ ปีเท่านั้น
(๔) การทำนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนหรือการก่อตั้งสิทธิต่างๆ ในอสังหาริมทรัพย์ โดยปกติจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไม่งั้นเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์หรือไม่ บริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ปกติไม่ได้กำหนดแบบไว้ ยกเว้นกรณีสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำตามแบบ
(๕) แดนกรรมสิทธิ์มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น สังหาริมทรัพย์ไม่มีแดนกรรมสิทธิ์
(๖) สิทธิของคนต่างด้าวในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีข้อจำกัด แต่ในสังหาริมทรัพย์โดยปกติไม่มีข้อจำกัด

0 ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม